อลิซาเบธ ดี อีนานเดียก

รูมะห์ เมอนาโป: ที่ลี้ภัยของกวางระหว่างอุทกภัยของแม่น้ำบาตังฮารี

กวีแห่งภัยพิบัติ บอร์จู ทำหน้ากากมาตลอดหลายต่อหลายปีแล้ว ตั้งแต่เมื่อคนรุ่นปู่ย่าตายายบอกเขาว่าบรรพบุรุษเป็นผู้ป่วยโรคเรื้อน ซึ่งถูกปฏิบัติในฐานะคนชั้นต่ำที่จะข้องแวะด้วยไม่ได้โดยผู้คนจากหมู่บ้านข้างเคียง บรรพบุรุษของเขาจึงถูกผลักไสให้ไปอยู่ในป่าลึกที่เต็มไปด้วยซากปรักหักพังอันดูราวกับจะมีผีสิง ดินแดนต้องคำสาปที่ถูกทิ้งร้างไปหลายศตวรรษ กระนั้น ในคืนสุดท้ายของเดือนรอมฎอน ผู้ป่วยโรคเรื้อนผู้เคราะห์ร้ายต่างก็ยังคงกล้าที่จะเข้าร่วมเดินในขบวนแห่ ตักบีรัน (takbiran)1 สวมหน้ากากและผืนผ้าเก่า ๆ ที่ใช้ปกปิดรอยตุ่มแผลบนร่างกาย พวกเขาแบกตะกร้าหวายที่ซึ่งผู้มีจิตใจเห็นอกเห็นใจคงจะทิ้งอาหารมาให้

อันที่จริง ซากปรักหักพังผีสิงที่ว่านี้คือซากอาคารที่หลงเหลืออยู่ของสิ่งซึ่งเชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 7 ถึง 13 “จุดบรรจบของความรู้” แห่งนี้เติบโตและรุ่งเรืองขึ้นที่จุดตัดของเส้นทางการเผยแผ่พุทธศาสนาทางทะเลที่กลายมาเป็นเส้นทางสำคัญแทนที่เส้นทางสายไหมบนผืนแผ่นดินใหญ่ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 7 เป็นต้นมา เหล่านักปราชญ์และปรมาจารย์ทางศาสนาทั้งจากจีนและอินเดียต่างก็เดินทางมาที่นี่เพื่อรับการศึกษา โดยเดินทางมาทางเรือผ่านช่องแคบมะละกาและทวนสายแม่น้ำบาตังฮารี (Batanghari) แม่น้ำสายใหญ่ที่สุดในสุมาตรา คำว่า บาตัง (Batang) แปลว่า แม่น้ำ ในภาษาอินโดนีเซีย ขณะที่ ฮารี (Hari) คือนามลำดับที่ 656 ของพระวิษณุ ด้วยการเดินเรือตามสายน้ำนี้เองที่ศาสนาจากอินเดียเข้าสู่หมู่เกาะตั้งแต่ศตวรรษแรก ทวนน้ำขึ้นไปถึงป่าดงดิบดั้งเดิมบริเวณพื้นที่ลาดชันของภูเขาไฟเกอรินจี (Kerinci Volcano) เส้นทางซึ่งอาจเรียกได้ว่า “เส้นทางทองคำ” เนื่องจากเหล่าพ่อค้าจากทั่วทั้งทวีปเอเชียต่างก็รีบเร่งเดินทางมาเพื่อค้นหาโลหะที่ว่านั้น ดังนั้น ชื่อ “สุวรรณทวีป” (Suvarnadvipa) ซึ่งในภาษาสันสกฤตหมายถึง “เกาะแห่งทอง” จึงถูกใช้เพื่อหมายถึงดินแดนที่ปัจจุบันรู้จักกันในนามเกาะสุมาตรา (คำสอนของศาสนาพุทธแบบมหายานและตันตระจากเกาะนี้เผยแผ่ไปไกลจนถึงทิเบต) จนกระทั่งถึงคริสต์ศตวรรษที่ 13 มหาวิทยาลัยอันยิ่งใหญ่แห่งนี้ก็ ถูกลืมเลือนไป

ทุกวันนี้ ตรงจุดที่เป็นที่ตั้งคือหมู่บ้านมูอาราจัมบี (Muara Jambi) ซึ่งผู้อยู่อาศัยทั้งหมดเป็นชาวมุสลิม บ้านของพวกเขาทำจากไม้และสร้างอยู่บนไม้ค้ำยันเลียบฝั่งแม่น้ำบาตังฮารี ในเรือกสวนพวกเขาเพาะปลูกคาเคา ลางสาด และทุเรียน กินพื้นที่รวมกว่า 3,000 เฮกตาร์ ในใจกลางเหล่าซากปรักหักพังของกลุ่มอาคารวัดวา คนวัยหนุ่มสาวในหมู่บ้านจำนวนไม่น้อยไปร่วมทำการขุดค้นแหล่งโบราณสถานกับนักโบราณคดีเป็นครั้งคราว พวกเขารู้ว่าจะพูดคุยกับก้อนหินแต่ละก้อน เนินดินลูกรังแต่ละเนิน ต้นไม้แต่ละต้นอย่างไร ขณะที่เหล่าพ่อแม่ผู้ปกครองของพวกเขาอาศัยอยู่ในกระท่อมหลังเล็ก เฝ้าดูการร่วงหล่นของลูกทุเรียนยามค่ำคืน สำหรับคนหนุ่มสาว ภูมิปัญญาความรู้โบราณยังคงมีชีวิตอยู่ท่ามกลางซากอาคารหักพัง พวกเขารู้สึกอย่างลึกซึ้งและเป็นไปเองราวกับธรรมชาติต่อแรงบันดาลใจและการแฝงฝังเข้าไปในตัวเองจากซากอาคารหักพังนั้น พวกเขาจึงสะสมและคอยอ่านหนังสือประวัติศาสตร์กันมากมายก่ายกอง พวกเขาจึงเป็นทั้งผู้พิทักษ์สถานที่แห่งนี้และเป็นนักสำรวจอดีตของมัน โดยที่ตำนาน ภูมิปัญญาท้องถิ่น และ “ดวงตาภายใน” เปรียบดั่งเครื่องมือขุดค้นทางโบราณคดี

เพื่อที่จะเฉลิมฉลองความทรงจำว่าด้วยบรรพบุรุษที่เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อน กวีอย่างบอร์จูจึงเริ่มที่จะทำหน้ากากแห่งความทนทรมานขึ้นมาจากฟักทองแห้ง ซึ่งพวกเด็ก ๆ มักจะนำมาถือกันทุก ๆ ปีในค่ำคืนสุดท้ายในเดือนแห่งการถือศีลอด ในขบวนแห่อันสนุกสนานรื่นเริงที่เดินไปทั่วหมู่บ้าน

(การเฉลิมฉลองความทรงจำว่าด้วยบรรพบุรุษที่เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อนโดยการทำหน้ากากจากฟักทองแห้ง ภาพถ่ายโดย มูลนิธิปัทมาสนะ)

เรือนร่างผอมบางของบอร์จู2 คล้ายจะสืบทอดมาจากปู่ชาวอินเดีย ความผอมบางอันมาจากการบำเพ็ญตบะและทรงผมแบบราสตาฟาเรียนทำให้เขามีรัศมีคู่ควรกับความมุ่งมั่น ในระหว่างสัปดาห์ ในโรงเรียนท้องถิ่น เขาจะสอนปัญจศิลา (Pancasila) หลักการพื้นฐาน 5 ประการของรัฐธรรมนูญอินโดนีเซีย ให้ความสำคัญกับความยุติธรรมทางสังคม ความร่วมมือกันในชุมชน (gotong royong) และความหลากหลายทางวัฒนธรรม ในช่วงเวลาที่ควันจากไฟป่าหนาทึบจนกระทั่งโรงเรียนได้รับคำสั่งให้ปิด เขาดำเนินการประท้วงเชิงกวีนิพนธ์เพื่อต่อต้านการคอร์รัปชั่นที่หน้าจวนผู้ว่าการในตัวเมืองจัมบี ในคืนวันเสาร์ เขาร้องเพลงในงานแต่งงานร่วมกับวงดนตรีป๊อปมลายู และในคืนวันอาทิตย์ เขาพาเด็ก ๆ ไปยังโรงเรียนที่ “เปิด-ให้-ทุกคน” (open-for-all) ริมฝั่งแม่น้ำบาตังฮารี เพื่อที่จะเพาะปลูกผนังกำแพงสีเขียวเพื่อต้านทานฝุ่นถ่านหิน ซึ่งมักจะลอยตกมายังหมู่บ้านเมื่อฝนตกหนักอย่างไม่ลืมหูลืมตา เมื่อพวกรถตักรถบรรทุกในอีกฟากฝั่งหนึ่งขนถ่ายถ่านหินเข้าสู่คลังสินค้าในพื้นที่เปิดโล่ง นอกจากนั้น บอร์จูยังเป็นพ่อของเด็กหญิงตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งด้วย ในฐานะมุสลิมผู้พยากรณ์ เขาตั้งชื่อลูกสาวว่า ปรัชญาปารมิตา (Prajnaparamita) ซึ่งมีความหมายว่ามารดาแห่งปัญญาตามระบบคิดแบบพุทธศาสนานิกายมหายาน

ในเดือนกันยายนปี 2562 ทั่วทั้งจังหวัดจัมบีถูกรุกรานโดยควันไฟจากไฟป่าขนาดใหญ่ ในทำนองเดียวกันกับภูมิภาคอื่น ๆ ทั้งในสุมาตราและกาลีมันตัน คำศัพท์ใหม่ในภาษาอินโดนีเซียคำหนึ่งเกิดขึ้นภายใต้อาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อมนี้ คือคำว่า การฮุตลา (karhutla) คำย่อซึ่งมาจากคำกล่าว “kebakaran hutan dan lahan” (ไฟไหม้ป่าและไฟไหม้ทุ่ง) เพื่อที่จะท้าทายภาวะภัยพิบัติ บอร์จูจึงรื้อฟื้นพิธีกรรมโบราณอย่างพิธีกรรมลอยเรือ (Larung Sungai) ขึ้นมาใหม่ ภายใต้ท้องฟ้าสีแสดอันขมุกขมัวไปด้วยม่านควันหนาเตอะ ผู้คนในหมู่บ้านมูอาราจัมบีล่องไปกับเรือติดเครื่องยนต์ขนาดยาวสองลำเพื่อโปรยเครื่องเซ่นสังเวยลงไปในแม่น้ำ ทุก ๆ คนสวมหน้ากากโรคเรื้อนที่ทำจากฟักทองซึ่งถูกดัดแปลงให้เป็นหน้ากากกันไฟ และนักกวีก็กล่าวบทกวี:

“น้ำของบาตังฮารีไม่สามารถปลอบประโลมความกระหายได้อีกต่อไป
กระแสซึ่งเคยนำพาตำนานอันรุ่งโรจน์
วันนี้นำเอาข่าวคร่าวของภัยพิบัติมาสู่เกาะทองคำ
โลกกำลังเผาไหม้ เผาไหม้
ชาวนาผู้กลัดกลุ้มในนาข้าวแห้งผาก
นั่งนิ่งเฉย ไม่มีต้นไม้หลงเหลือให้ใช้กำบัง
ตัดจนเหี้ยน มันล้วนแต่ร่วงหล่นลงไปในกระเป๋าของพวกตัวตลก
ผู้สวมใส่อาภรณ์ของผู้คนจำนวนหยิบมือ
สิ่งที่หลงเหลือคือกิ่งไม้เน่าไขว่คว้าไปยังท้องฟ้า
สิ่งที่หลงเหลือยังหลงเหลืออยู่เพื่อที่จะตาย รอคอยการใส่ร้ายป้ายสีของโลกใบนี้”

เมื่อผู้เขียนมาถึงมูอาราจัมบีเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2553 ด้วยการเชิญอย่างเป็นทางการ สำหรับผู้มีอำนาจการปกครองระดับจังหวัดแล้ว ผู้คนในหมู่บ้านยังถูกถือว่าเป็นชนชั้นต่ำราวกับว่าตราบาปที่มาจากบรรพบุรุษซึ่งเป็นผู้ป่วยโรคเรื้อนยังคงยึดกุมพวกเขาอยู่ ตัวผู้ว่าการเองก็ห้ามปรามมิให้แขกของเขาออกไปเดินเล่นในหมู่บ้านคนเดียว เขาจะสั่งให้ทหารคอยตามอารักขาแขกเหรื่อเพื่อที่จะป้องกันจาก “ประชากรกลุ่มนี้ซึ่งเป็นทั้งโจรขโมยและพวกนอกกฎหมาย” ประชาชนชาวมูอาราจัมบีถูกกล่าวหาว่าขโมยผลไม้จากต้นไม้ในสวนของตนเองซึ่งพวกเจ้าหน้าที่รัฐอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของแหล่งโบราณคดี หรือไม่ก็ด้วยเหตุของการประท้วงต่อต้านบริษัทถ่านหิน ชาวบ้านยังถูกดูถูกเหยียดหยามจากกรมโบราณคดี ผู้ซึ่งจ้างพวกเขาเป็นแรงงานราคาถูกในการขุดค้นและยังสงสัยว่าชาวบ้านจะขโมยข้าวของมีค่าที่ขุดค้นมาได้ แต่เมื่อใดที่คนในหมู่บ้านส่งมอบอะไรที่ค้นพบได้ให้แก่พวกนักโบราณคดี พวกเขาก็ไม่เคยได้รับข้อมูลเกี่ยวกับนัยสำคัญทางประวัติศาสตร์หรือความหมายทางศาสนาของวัตถุโบราณเหล่านั้นเลย ราวกับว่าพวกเขาไม่มีสิทธิที่จะรู้ ราวกับว่าความรู้เป็นแต่ของนักวิชาการ ไม่ได้เป็นของ “ชาวบ้านในหมู่บ้านที่ไร้การศึกษา”

ในเดือนพฤศจิกายนปี 2553 รัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดจัมบีจัดสัมมนาเกี่ยวกับมูอาราจัมบีในฐานะที่เป็นตัวเลือกสำหรับการเสนอฐานะพื้นที่มรดกโลกของยูเนสโก ผู้เขียนได้รับเชิญให้ไปพูดเกี่ยวกับการเดินทางของปรมาจารย์ทางพุทธศาสนาชาวอินเดีย อตีศะทีปังกรศรีชญาณ (Atisha Dipankara Shrijnana) ไปยังสุวรรณทวีปในปี 1555 ซึ่งถูกบันทึกอยู่ในเอกสารต้นฉบับลายมือจากทิเบตที่เชื่อว่าจะเขียนขึ้นโดยตัวของอตีศะเอง พระสงฆ์ผู้ทรงความรู้ผู้นี้ออกจากศูนย์กลางอันยิ่งใหญ่ของพุทธศาสนาอย่างนาลันทา (Nalanda) ในอินเดีย เพื่อที่จะข้ามมหาสมุทรไปพบกับคุรุที่เขานับถือที่สุดมาตลอดหลากหลายอดีตชาติอย่างเซอร์ลิงปะ (Serlingpa) บุรุษแห่งเกาะทองคำ หลังจาก 13 ปีในสุมาตรา อตีศะจึงเดินทางกลับอินเดีย และในเวลาต่อมาได้รับเชิญจากพระราชาแห่งทิเบตให้ไปรับหน้าที่ดำเนินการสิ่งซึ่งเรียกกันว่า “การเผยแผ่พุทธศาสนาครั้งที่สอง” ในแถบหิมาลัย โดยนำเอาคำสอนล้ำค่าจากอาจารย์ที่มาจากเกาะทองคำ

ระหว่างการสัมมนาทั้งสองวัน นักวิชาการหลายท่านบอกเล่าเปิดเผยวิธีการการขุดค้นที่ทำมาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1970 โดยรัฐบาลอินโดนีเซียนั้นได้ขุดค้น “วัด” ไปแล้วจำนวน 8 แห่ง จากจำนวนกว่า 84 แห่ง ตลอดจนรูปปั้นต่าง ๆ เครื่องปั้นดินเผาแบบจีนและเครื่องเซรามิคจากราวคริสต์ศตวรรษที่ 9 แต่เนื่องจากพบจารึกอยู่เพียงไม่กี่หลัก นักโบราณคดีจึงไม่สามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากเต็มคำนักถึงการมีฐานะเป็น “มหาวิทยาลัย” กระนั้น นักโบราณคดีก็ยอมรับว่ากลุ่มอาคารเหล่านี้คงไม่ใช่วัดวาอาราม ทว่าน่าจะเป็นศูนย์การเรียนรู้มากกว่า ด้วยการที่อาคารแต่ละแห่งมีแท่นฐานแห่งละ 2 ถึง 6 แท่น ทั้งยังมีหลังคากระเบื้องที่ตั้งอยู่บนเสาไม้เป็นเครื่องบังแดดบังฝน พวกนักเรียนสงฆ์ทั้งหลายคงจะนั่งขัดสมาธิรายล้อมรอบ ๆ แท่นฐานนั้นบนพื้นที่ปูด้วยอิฐ

(วัด Koto Mahligai, หมู่บ้านมูอาราจัมบี)

หนึ่งในคำบรรยายที่ยอดเยี่ยมที่สุดในการสัมมนาครั้งนั้นมาจากศาสตราจารย์ ดร. มุนดาร์ดจิโต (Mundardjito) นักโบราณคดีอาวุโสแห่งมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย จาการ์ตา เขาเน้นย้ำว่าการก่อร่างสร้างตัวของมูอาราจัมบีซึ่งกินเวลากว่าหลากหลายศตวรรษ ต้องอาศัยความรู้ที่มีลักษณะหลากหลายสาขาวิชา เพื่อที่จะปรับแปลงให้เข้ากับลักษณะทางภูมิประเทศอันสลับซับซ้อนของสถานที่ ไม่ว่าจะเป็น ป่าฝน บึง และแม่น้ำที่จะมีน้ำท่วมในฤดูมรสุม ดังนั้น เพื่อที่จะคลี่คลายประเด็นที่ ดร.มุนดาร์ดจิโต เรียกว่าเป็น “บัตรประชาชนอินโดนีเซีย” แนวการทำความเข้าใจแบบหลากสาขาวิชาจึงเป็นสิ่งจำเป็นในทุกวันนี้ เมื่อนักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ นักจารึกวิทยา นักสิ่งแวดล้อม สถาปนิก ผู้นำทางจิตวิญญาณ และชุมชนท้องถิ่นควรจะได้รับการสนับสนุนให้อาศัยอยู่ในพื้นที่ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเอง

บอร์จูและเพื่อน ๆ จากหมู่บ้านของเขาไม่ได้รับเชิญไปในงานสัมมนาในฐานะผู้บรรยาย เป็นแต่เพียงผู้ฟังเท่านั้น แต่พวกเขาก็เป็นผู้ฟังที่ตั้งอกตั้งใจ และบทบรรยายของ ดร. มุนดาร์ดจิโต ก็โดนใจอย่างจัง บทบรรยายนั้นคล้ายจะปลดปล่อยพวกเขาจากกระบวนการตีตราให้เป็นคนชั้นต่ำ คนนอกกฎหมาย และเกษตรกรผู้โง่เขลา ตามภาพประทับที่สร้างขึ้นโดยเจ้าหน้าที่รัฐในองค์กรปกครองท้องถิ่นและพวกนักวิชาการจำนวนหนึ่ง คำบรรยายนั้นอนุญาตอย่างเต็มที่ให้พวกเขามีหน้าที่และความชอบธรรมในการที่จะดำเนินการค้นคว้า รักษา และพัฒนา ความมั่งคั่งอันแตะต้องไม่ได้ (intangible wealth) ที่อยู่ใน “บ้านของพวกเขา” ซึ่งหมายถึงแหล่งโบราณคดีมูอาราจัมบีต่อไปได้ นับแต่นั้นเป็นต้นมา พวกเขาเริ่มจัดตั้งองค์กรอย่างเป็นรูปธรรมและมีโครงสร้างชัดเจนผ่านการก่อตั้งมูลนิธิปัทมาสนะ (Padmasana; หมายถึง ฐานรูปทรงดอกบัวที่ปรากฏในภาพแทนของพระพุทธเจ้าในท่ายืน) เพื่อที่จะทำให้งานของพวกเขามีความเป็นมืออาชีพขึ้นและสามารถบอกเล่าหรือแบ่งปันเรื่องราวให้กว้างขวางออกไปได้ และนั่นเองจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้เขียนได้เข้าไปยังหมู่บ้าน โดยไม่มีการอารักขาของพวกทหาร และไม่จากไปอีกเลย

ในปี 2555 แหล่งโบราณคดีแห่งมูอาราจัมบีได้รับการประกาศโดยรัฐบาลอินโดนีเซียให้เป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม (cagar budaya) หลังจากได้รับการกำหนดให้อยู่ในรายการตัวเลือกที่เป็นไปได้สำหรับการเสนอให้เป็นมรดกโลกของยูเนสโกเมื่อปี 2552 กระนั้นก็ตาม ทุกวันนี้บริเวณมูอาราจัมบีและตัวของชุมชน ต้องเผชิญกับการคุกคามทั้งจากมนุษย์และสิ่งแวดล้อมไม่น้อย ตัวอย่างเช่น:

  • แม่น้ำบาตังฮารี แต่เดิมคือแม่น้ำที่ขนถ่ายแร่ทองคำและเป็นเส้นทางของผู้รู้ กลายมาเป็นแม่น้ำสีดำที่เต็มไปด้วยมลพิษ ตามแม่น้ำสาขาที่อยู่ต้นน้ำ พวกคนลักลอบขุดเหมืองทองใช้ปรอทเพื่อแยกผงทองออกมาและทิ้งสารตกค้างลงในแม่น้ำ
  • เครื่องสูบขนาดใหญ่ซึ่งใช้ขุดทรายบริเวณด้านหน้าของหมู่บ้านทำให้ตลิ่งทรุดตัว น้ำในแม่น้ำขุ่นขึ้น ทำให้โลหะหนักลอยขึ้นมาบนผิวน้ำ ในขณะที่ทำให้ขุมสมบัติโบราณทั้งหลายยังคงจมอยู่ใต้ท้องน้ำ
  • ทางฝั่งตรงข้ามของมูอาราจัมบีในที่ซึ่งกลุ่มอาคารวัดวาอีกสามกลุ่มตั้งอยู่ โรงเลื่อยเก่าถูกใช้เพื่อเป็นโกดังเปิดโล่งสำหรับเก็บถ่านหิน ในขณะเดียวกันกับการผลาญทรัพยากรป่าไม้อย่างไร้ขีดจำกัด เมื่อมีการขนส่งถ่านหินขึ้นเรือบรรทุกขนาดใหญ่ กลุ่มเมฆสีดำก็จะก่อตัวขึ้นเหนือแม่น้ำบาตังฮารี ก่อนที่จะสร้างฝนที่เจือไปด้วยสารพิษและน้ำมันตกลงมายังหมู่บ้าน แทรกซึมเข้าไปที่ดวงตาและปอดของผู้คน
  • พื้นที่ขนาดใหญ่ของมรดกแห่งชาติแห่งนี้ยังค่อย ๆ ถูกเขมือบโดยพื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมันขนาดใหญ่ โดยเฉพาะเหล่าหนองบึงของมูอาราจัมบีซึ่งเดิมทีเป็นที่ที่มีต้นเตยขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ ผู้หญิงในหมู่บ้านมักจะใช้ใบเตยในการสานเสื่อที่ใช้ในพิธีกรรมตลอดช่วงเวลาต่าง ๆ ในชีวิต
  • การท่องเที่ยวแบบมวลชนในระดับท้องถิ่นกำลังเพลิดเพลินกับสถานที่ศักดิ์สิทธิ์นี้ในฐานะแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ การไหลบ่าเข้ามาเรื่อย ๆ ของนักท่องเที่ยวเชิงแสวงบุญชาวพุทธ ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นชาวจีน ทั้งจากประเทศมาเลเซีย ไต้หวัน สิงคโปร์ ไทย จีน และอินโดนีเซีย เข้ามาสักการะในพื้นที่แถบตอนล่างของกลุ่มอาคารวัดวาเหล่านี้ แต่ก็ละเลยเพิกเฉยประชากรชาวมุสลิมซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ นักท่องเที่ยวมากันกับไกด์ของตัวเอง ดังนั้น ผู้คนในหมู่บ้านจึงไม่ได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยว
(พื้นที่ในวัดมูอาราจัมบี)

สมาชิกของมูลนิธิปัทมาสนะล้วนแต่เป็นผู้อยู่อาศัยในหมู่บ้านมูอาราจัมบี พวกเด็ก ๆ ต่างก็เรียนรู้ผ่านการเอาอย่างผู้สูงอายุ กิจกรรมต่าง ๆ ของมูลนิธิดำเนินการเพื่อผู้อยู่อาศัยในหมู่บ้านกว่า 3,000 คน แต่ยังรวมถึงนักท่องเที่ยวที่แวะเวียนผ่านมาด้วย ในบรรดากิจกรรมต่าง ๆ ที่มูลนิธิดำเนินการรวมไปถึงการสอน เวทีเสวนา การจัดกิจกรรม การจัดฉายภาพยนตร์ เช่น:

โบราณคดีพลเมือง โบราณคดีสาธารณะ-ใหม่ (Re-public archaeology)3

  • ในท้องน้ำของแม่น้ำบาตังฮารีพบว่ามีเหรียญจีนโบราณกว่า 6,000 เหรียญ โดยนับอายุย้อนไปได้จนถึงตั้งแต่หนึ่งศตวรรษก่อนคริสตกาล และได้มีการระบุอายุและจำแนกแจกแจงไปตามแต่ราชวงศ์ต่าง ๆ แล้ว
  • เก็บรักษาม้วนจารึกดีบุกที่พบในแม่น้ำบาตังฮารี จำหลักด้วยถ้อยคำหรือคาถาในภาษามลายูโบราณ ชวา และสันสกฤต (ดำเนินการอย่างไม่เป็นทางการร่วมกับอาร์โล กริฟฟิธส์ [Arlo Griffiths] อดีตผู้อำนวยการของสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ (EFEO) ในจาการ์ตา เพื่อที่จะถอดความและทำให้จารึกม้วนเหล่านี้สามารถ “พูดได้” อีกครั้ง ภายใต้การสนับสนุนของนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส ปิแยร์-อีฟส์ ม็องกวิน [Pierre-Yves Manguin] หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญอันโดดเด่นด้านประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในอินโดนีเซีย)

สิ่งแวดล้อม:

  • แหล่งพักพิงอนุบาลพืชสมุนไพรและชนิดพันธุ์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
  • การผลิตถุงจากพลาสติกรีไซเคิลเพื่อนำมาขายในพื้นที่
  • ผลิตภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับความถดถอยเสื่อมโทรมของพื้นที่อันเป็นผลมาจากการทำเหมืองและนิคมเกษตรกรรม เพื่อสร้างความตระหนักรู้ต่อสาธารณะ

วัฒนธรรม:

  • รื้อฟื้นการเต้นรำ ดนตรี หน้ากาก และการผลิตหัตถกรรมท้องถิ่น (ผ้าบาติก เสื่อ)
  • รวบรวมเซอโลกา (seloka; คำประพันธ์ประเภทกวีดั้งเดิมความยาวสี่บาทที่ว่าด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นและธรรมเนียมหรือกฎหมายจารีต) ซึ่งยังรวมไปถึงความรู้ที่ถ่ายทอดผ่านการบอกเล่าของผู้อาวุโสในชุมชน เช่น ตำนานท้องถิ่นและพืชสมุนไพร เป็นต้น
  • การทำพจนานุกรม “มูอาราจัมบี-อินโดนีเซีย” (กำลังดำเนินการ)
  • การทำภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมที่กำลังจะสาบสูญไป เช่น ซีกีร บารดะห์ (Zikir Bardah; กลองซูฟีขนาดใหญ่ที่เล่นโดยผู้อาวุโส)
  • โครงการศิลปินในพำนัก ร่วมกับนักเรียนนักศึกษาชาวสิงคโปร์จำนวน 9 คน จากวิทยาลัยศิลปะลาซาล (Lasalle College of the Arts) มีการจัดกิจกรรมเชิงปฏิบัติการในหมู่บ้านและมีนิทรรศการร่วมในสิงคโปร์ (นิทรรศการ “Crossing the Straits” [ข้ามช่องแคบ] พ.ศ.2559-2561 จัดโดยวิทยาลัยศิลปกรรมแม็คแนลลี [McNally School of Fine Arts]); รวมไปถึงการตีพิมพ์หนังสือ “To leave home is already half the journey” [การออกจากบ้านก็เป็นครึ่งหนึ่งของการเดินทางแล้ว] โดยวิทยาลัยศิลปะลาซาล
(นักศึกษาจากวิทยาลัยศิลปะลาซาล)
  • การตีพิมพ์หนังสือ “Dreams from The Golden Island” [ความฝันจากเกาะทองคำ] (สำนักพิมพ์ Babad Alas, พ.ศ.2561) ในสี่ภาษา (อินโดนีเซีย จีน อังกฤษ และฝรั่งเศส) ออกแบบศิลปกรรมโดยศิลปินรุ่นเยาว์จากมูอาราจัมบี หนังสือเล่มนี้เป็นดังสะพานเชื่อมระหว่างอดีตอันเป็นพุทธศาสนาและความเป็นมุสลิมในปัจจุบัน โดยรวบรวมพระสูตรในภาษาสันสกฤต ทิเบต จีน และซูเราะห์จากคัมภีร์อัลกุรอาน ตลอดจนกวีนิพนธ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้าด้วยกัน สิ่งพิมพ์ชิ้นนี้จึงเปรียบได้กับการเป็น “บัตรอัตลักษณ์-บัตรประชาชน” ของผู้คนแห่งหมู่บ้านมูอาราจัมบีที่เปิดให้พวกเขาเป็นที่รับรู้ต่อเจ้าหน้าที่รัฐอินโดนีเซียและยูเนสโกในฐานะผู้พิทักษ์ของพื้นที่ และเป็นนักสำรวจอดีตของพื้นที่ เพื่อจะไม่ถูกกล่าวหาว่าเป็น “ผู้บุกรุก” ที่จะต้องเผชิญกับการข่มขู่เรื่องการขับไล่และพรากยึดที่อยู่อาศัย
(ภาพถ่ายบันทึกระหว่างนิทรรศการ)

เพื่อที่จะท้าทายกับความขัดแย้งหลากหลายมิติดังที่กล่าวข้างต้นซึ่งห้อมล้อมแหล่งโบราณคดีขนาดมหึมานี้ มูลนิธิปัทมาสนะจึงกำลังสร้างศูนย์การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เป็นรูปธรรมขึ้น ศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับอดีตและสำหรับอนาคต จากสุมาตราและนอกเหนือออกไป โดยก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาจากกิจกรรมและโครงการที่ดำเนินการมาแล้วก่อนหน้านี้ นี่จึงจะเป็นแบบจำลองขนาดเล็กของที่ซึ่งเป็นดัง “มหาวิทยาลัยสีเขียว” แห่งแรกจากยุคโบราณ ณ จุดตัดและจุดติดต่อระหว่างอินเดียและจีน ในสถานที่ซึ่งวิทยาเขตของมันจะผนวกรวมเอาป่าฝนในฐานะที่เป็นเรือกสวน ห้องสมุด ร้านขายยาที่มีชีวิต และที่พักพิงสำหรับการเจริญสติ “บ้านแห่งภูมิปัญญาท้องถิ่นและสันติภาพแห่งโลก” แห่งนี้ มุ่งหมายที่จะสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน ให้การศึกษาทางจิตใจ ต่อสู้กับปัญหาการหลงลืมทางประวัติศาสตร์ เผยแผ่ส่งต่อวัฒนธรรมของสันติและการเคารพธรรมชาติ บ้านหลังนี้ตั้งชื่อว่า รูมะห์ เมอนาโป (Rumah Menapo) รูมะห์ (Rumah) แปลว่าบ้าน ส่วน เมอนาโป (Menapo) คือคำที่ผู้คนในหมู่บ้านใช้เรียกกลุ่มอาคารวัดวาลึกลับซึ่งล้อมรอบไปด้วยกำแพงและคูคลอง ที่ซึ่งพื้นที่จำนวนมากหักพังและปกคลุมไปด้วยกองดินอยู่ระหว่างเรือกสวนและแหล่งเพาะปลูกโกโก้ นักโบราณคดียังไม่สามารถที่จะเปิดเผยความลี้ลับของกลุ่มอาคารวัดวาแห่งนี้ได้ ดังนั้นจึงอาศัยศัพท์ท้องถิ่นว่า เมอนาโป ใช้เรียกไปก่อน คำว่า นาโป (Napo) ในภาษามูอาราจัมบี หมายถึง “กวาง” ส่วนคำว่า เมอ หมายถึง “สถานที่” ในระหว่างฤดูน้ำหลากที่แม่น้ำบาตังฮารีจะท่วมเป็นประจำในทุก ๆ ปี ซึ่งจะทำให้พื้นที่หมู่บ้านจมลงที่ความสูงกว่าหนึ่งเมตร เมอนาโปคือพื้นที่สูงที่เหล่าสัตว์ป่าจะใช้ลี้ภัย (ในทำนองเดียวกันกับเรือของโนอาห์)

ในโอกาสก่อตั้ง รูมะห์ เมอนาโป วันนี้ขบวนแห่หน้ากากผู้ป่วยโรคเรื้อนเผยกายในฐานะการเต้นรำเชิงพิธีกรรมเพื่อการเยียวยารักษา แสดงโดยหญิงสาวในหมู่บ้านในนาม โตเป็ง ลาบู (Topeng Labu) หรือหน้ากากฟักทอง

 

อลิซาเบธ ดี อีนานเดียก (Elisabeth D. Inandiak) เป็นนักเขียน นักแปล และข้าราชการ เกิดที่ประเทศฝรั่งเศส เธอเริ่มเดินทางทั่วโลกในฐานะนักสื่อมวลชนตอนอายุ 19 ปี เขียนวรรณคดีหลายเล่ม เช่น เรื่องราวชีวิตของ Marceline Loridan Ivens หญิงเชื้อสายยิวผู้ถูกเนรเทศในค่ายกักกันเอาท์วิทซ์ ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง รวมถึงได้เขียนบทภาพยนตร์หลายเรื่อง เช่น A Tale of the Wind ร่วมกับผู้กำกับสารคดีชาวดัตช์ Joris Ivens ในปี 2532 เธอลงหลักปักฐานที่ยอคยาการ์ตา อลิซาเบธเรียบเรียงวรรณกรรมชวาชื่อดัง อย่าง Serat Centhini ให้เป็นฉบับคริสต์ศตวรรษที่ 21 โดยใช้ชื่อว่า Kekasih yang Tersembunyi หลังจากแผ่นดินไหววันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ.2549 เธอได้ก่อตั้งสตูดิโอ Giri Gino Guno ใน เบเบกัน บันตุล ขณะที่เกิดการระเบิดของภูเขาไฟเมอราปีวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ.2553 เธอและโรงเรียนประจำ Al Qodir Islamic ได้ร่วมกันจัดหาที่อยู่อาศัยให้ผู้คนจากหมู่บ้านคินาเจโรจนกระทั่งพวกเขาสามารถกลับไปยังบ้านของพวกเขาได้ จากประสบการณ์ในภัยพิบัติทางธรรมชาติสองครั้งนี้ ได้เกิดเป็นหนังสือ Babad Ngalor-Ngidul ซึ่งได้ศิลปิน Heri Dono มาร่วมวาดภาพประกอบ เป็นหนังสือภาคต่อของ Lahirnya Kembali Beringin Putih (พ.ศ.2542) เธอได้สร้างผลงานล่าสุดร่วมกับชาวบ้านจากหมู่บ้าน Muara Jambi ในสุมาตรา โดยใช้ชื่อ Mimpi-Mimpi dari Pulau Emas ซึ่งประกอบด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้าน นิทานปรัมปรา และการใช้ดวงตาที่สามเพื่อการขุดค้นโบราณสถานทางพุทธศาสนา นับว่าเป็นการสร้างปัญญาและความสงบสุขร่วมกันกับพวกเขา