Excavated Gods, พ.ศ.๒๕๖๔
สื่อผสม; กระดาษเยื่อบาง, ซากสิ่งมีชีวิต, ดิน-ทรายแม่น้ำโขง, สีฝุ่นจากจีนและจากภาคอีสาน
ขนาดปรับเปลี่ยนตามพื้นที่
ผลงานศิลปะจัดวางที่ตั้งคำถามต่อการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วของระบบนิเวศริมฝั่งโขง โดยนำเสนอผ่านแผนภาพภูมิศาสตร์จำลองไดโอรามาของภูมิทัศน์ตลอดลำน้ำโขง ในระยะทางกว่า ๘๕๘ กิโลเมตร จากบริเวณแก่งคุดคู้ ต้นกำเนิดตำนานตาจึ่งขึ่งดั้งแดง ที่จังหวัดเลย ไปยังสุดเขตพรมแดนแม่น้ำโขงของประเทศไทย ที่อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ศิลปินลัดเลาะไปยังเส้นทางริมน้ำโขง ขณะหยุดแวะที่อำเภอต่าง ๆ เขาพบว่าความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำนั้นผันผวนขึ้นลงทุกวันโดยไม่สามารถคาดเดาได้ล่วงหน้า ความผันผวนนี้เองที่แสดงให้เห็นว่าระบบนิเวศริมโขงนั้นแปรเปลี่ยนไป เขาตามเก็บซากสิ่งมีชีวิต ทั้งเศษซากปลาสายพันธ์ุต่าง ๆ โครงกระดูกสัตว์ เปลือกหอย ต้นไคร้ พืชไม้น้ำที่เกือบจะสูญพันธ์ุจากการไร้ฤดูของน้ำโขง เขาเก็บซากเหล่านี้มาเพื่อใช้ประกอบเป็นรากฐานของแผนภาพภูมิศาสตร์ชิ้นนี้
ศิลปินเริ่มกระบวนการสร้างสรรค์โดยบันทึกภาพจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ ภาพถ่ายจากดาวเทียมที่บ่งบอกชั้นดิน ความตื้นลึกของอาณาบริเวณ และจำลองภาพเหล่านั้นขึ้นด้วยการใช้กระดาษเยื่อบางมาทำเป็นโครงสร้างชั้นดินก่อนเคลือบพื้นผิวด้านบนด้วยดินที่เก็บจากพื้นที่ต่าง ๆ ที่ไปสำรวจ ในส่วนที่เป็นแม่น้ำโขงเขาแต่งแต้มมันด้วยสีครามอันเป็นสีพิเศษที่พบได้ในงานจิตรกรรมแถบภาคอีสาน ผสานกับผงสีฝุ่นที่เป็นแร่ธาตุสกัดจากประเทศจีน ประเทศต้นน้ำที่ปัจจุบันมีเขื่อนกว่าสิบเอ็ดแห่งจนเกิดเป็นปัญหาถึงดินแดนปลายน้ำ ซากสัตว์ที่ศิลปินใช้เป็นรากฐานของไดโอรามานี้ เป็นดังกองทับถมที่ต้องถูกรื้อถอนขึ้นมาเพื่อให้เห็นว่าภายใต้ระบบนิเวศที่สมบูรณ์นั้นประกอบด้วยสิ่งมีชีวิตอันหลากหลายที่กำลังจะถูกทำให้สูญหายไปด้วยน้ำมือมนุษย์ ในฐานะที่สิ่งมีชีวิตเหล่านี้เป็นพื้นฐานของความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศกล่าวอีกนัยหนึ่ง ผลงานศิลปะจัดวางนี้จึงเป็นดังอนุสาวรีย์ที่อุทิศให้ความอุดมสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นเป็นดังเทพารักษ์ คอยปกปักรักษาความสมดุลและอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำสายนี้ไว้