ติตา ซารีน่า

เกาะที่หนึ่งพันหนึ่ง

เมืองจาการ์ตา ถือว่าเป็นเมืองที่เป็นศูนย์กลางของการช่วงชิงความหมายระหว่างผลประโยชน์ต่าง ๆ แม้ว่าจาการ์ตาไม่ได้เป็นเมืองที่สามารถอยู่อาศัยได้อย่างสะดวกสบายอีกต่อไป อันเนื่องมาจากกระแสการพัฒนาให้เป็นเมืองนานนับทศวรรษ (urbanization) ที่ไม่เพียงส่งผลให้เมืองขยายตัว มีความหนาแน่น และมีค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น มากไปกว่านี้ จาการ์ตายังเป็นเมืองที่มีศักยภาพในการให้ทุกสิ่งทุกอย่างได้ จึงต้องประสบกับความเจ็บปวดจากสาเหตุมากมายและผลกระทบของปัญหาที่มีรากฐานมาอย่างยาวนานเกือบครึ่งสหัสวรรษ จากเป้าหมายที่ต้องการเป็นเมืองอันดับต้น ๆ ของโลก อันตามมาด้วยการเพิ่มจำนวนประชากรและการพัฒนาที่นำมาสู่การฉวยใช้ทุกสิ่ง การมุ่งไปสู่ตลาดการค้าเสรีและวิถีทางการพัฒนาดังกล่าวที่ไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมหรือผลกระทบเชิงนิเวศ ในขณะเดียวกันก็ผลิตขยะเหลือใช้ในปริมาณมาก

พื้นที่อนุรักษ์ป่าชายเลนที่ Muara Angke, เมืองจาการ์ตา, ภาพถ่ายโดย อีร์วัน อะห์เมตต์

ทุก ๆ วันขยะกว่า 8,000 ตันถูกนำไปทิ้งที่เมืองข้าง ๆ จนมีลักษณะเหมือนภูเขาแห่งขยะหรือไม่ก็กลายเป็นเกาะที่ลอยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ การจัดการขยะที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งในทางเทคโนโลยี การจัดการ ความไม่ตระหนักถึงปัญหา และ ระดับความสามารถในการรีไซเคิลต่ำก็ยิ่งทำให้ปัญหาทวีคูณเกินที่จะควบคุมได้ แม้ว่ารัฐบาลจะเสนอโปรแกรมการจัดการที่จะทำให้แม่น้ำทั้ง 13 สายของเมืองจาการ์ตาคืนสู่สภาพปกติ โดยเรียกว่า “betonisasi” เพื่อลดปริมาณการทับทมตะกอน และการสะสมของขยะ และเร่งให้เกิดการหมุนเวียนของน้ำ แต่ประสิทธิภาพของโครงการนี้ก็ยังคงเป็นที่ถกเถียง เนื่องมาจากการสร้างกำแพงคอนกรีตของโครงการที่สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจของผู้คนที่พึ่งพาแหล่งน้ำ ทั้งยังทำลายระบบนิเวศของแม่น้ำ ทำลายพืชหลากหลายสายพันธ์ุและสัตว์เฉพาะถิ่นจำนวนมาก

จึงเห็นได้ว่า แทนที่รัฐบาลจะสนับสนุนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนในการจัดการขยะ กลับใช้เครื่องมือในการขุดลอกท่อระบายน้ำที่อุดตันไปด้วยขยะและของเสีย เหมือนว่าเรากำลังหันหลังให้กับน้ำ จัดวางตำแหน่งให้แม่น้ำและสายน้ำที่เคยอยู่บริเวณสวนหน้าบ้านย้ายไปอยู่หลังบ้านของเราแทน

โครงการศิลปะ 1001st Island—The Most Sustainable Island in Archipelago หรือ เกาะที่หนึ่งพันหนึ่ง-เกาะที่ยั่งยืนที่สุดในหมู่เกาะ เป็นโครงการที่มีโอกาสจัดแสดงในเมืองต่าง ๆ หลากหลายประเทศ ในฐานะที่ขยะเป็นปัญหาระดับโลกที่ข้ามพรมแดนระหว่างชาติ มลพิษและการทำลายมหาสมุทรล้วนแต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกที่ในโลก “The Great Pacific Garbage Patch” หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น “เกาะเทียมจากขยะ” อันสามารถเปรียบได้กับ “ทวีป” แห่งใหม่ ที่สร้างขึ้นมาจากการม้วนของเกลียวคลื่นที่นำพาขยะและเศษซากต่าง ๆ จากรอบโลก ขยะพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายเหล่านี้ได้กระจัดกระจายไปทั่วจากแรงของคลื่นในมหาสมุทร กระทั่งแตกหักเป็นชิ้นส่วนและกลายไปเป็นไมโครพลาสติกหรือพลาสติกขนาดเล็กที่ไม่อาจมองเห็นด้วยตาเปล่า ในท้ายที่สุดก็ไปอยู่ในกระเพาะหรือท้องของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในมหาสมุทรที่กลืนกินพลาสติกเหล่านี้เข้าไปโดยไม่รู้ตัว

ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ต้องการความร่วมมือและเห็นพ้องต้องกันในระดับมหภาค แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่เกิดกระบวนการเคลื่อนไหวขนาดใหญ่ ส่วนหนึ่งอาจเป็นสาเหตุมาจากการพรมแดนของรัฐที่ทำให้ไม่สามารถหาหนทางในการแก้ปัญหาได้ นอกจากนี้ยังมีความแพร่หลายของธุรกิจนำเข้าส่งออกขยะจากประเทศพัฒนาแล้วสู่ประเทศโลกที่สาม เช่น อินโดนีเซีย ในอีกด้านหนึ่งการนำเข้านี้กลายเป็นเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มจำนวนตัวเลขการนำเข้าให้แก่ประเทศ สิ่งที่เกิดขึ้นนี้จึงสะท้อนให้เห็นถึงวิธีการจัดการกับปัญหาขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันก็ชวนให้คิดถึงวิธีที่จะจัดการกับปัญหาการแพร่ระบาดในระดับโลกและวิกฤติเรื่องสภาพภูมิอากาศ ในทางตรงข้าม ชุมชน ปัจเจกบุคคล และผู้ผลิตในระดับกลางต่างร่วมกันลดหรืองดใช้วัสดุที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ในทางชีววิทยา เช่น พลาสติกและโฟม ทั้งที่มีราคาถูก ใช้งานง่าย น้ำหนักเบา และทนทานต่อความสกปรกและกลิ่นต่าง ๆ ได้ดี น่าเสียดายว่า การใช้งานวัสดุเหล่านี้ในระยะเวลาสั้น ๆ ก็ยิ่งทำให้ผลิตขยะเร็วมากยิ่งขึ้นเท่านั้น ปรากฏการณ์นี้ยังเกิดขึ้นในประเทศที่มีเทคโนโลยีในการย่อยสลายขยะจากครัวเรือนให้กลายเป็นพลังงานนิวเคลียร์อีกด้วย 1

ณ ปัจจุบันเมืองกำลังผจญกับการกัดเซาะชายฝั่ง ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น การทรุดตัวของแผ่นดินจากการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ น้ำท่วม และปัญหาการจัดการขยะในครัวเรือน ไปจนถึงขยะจากอุตสาหกรรม และยังไม่รวมถึงวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศ ทั้งการเพิ่มสูงขึ้นของอุณหภูมิของโลกอันมีสาเหตุมาจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเกิดจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลลอยขึ้นสู่บรรยากาศของโลกมากเกินไป อันส่งผลกระทบให้มหาสมุทรมีอุณหภูมิสูงขึ้น อันเป็นสาเหตุที่ทำให้ปริมาณน้ำทะเลเพิ่มมากขึ้น ระดับน้ำทะเลจึงเพิ่มสูงขึ้น ทั้งหมดนี้ส่งผลให้เมืองหลวงของอินโดนีเซียกำลังทรุดจมลงเรื่อย ๆ ในอัตราราว 17 เซนติเมตรต่อปี จาการ์ตาเป็นหนึ่งในเมืองที่คาดว่าจะจมน้ำเร็วที่สุดแห่งหนึ่งในโลก คาดการณ์ว่าภายในปี 2593 พื้นที่หนึ่งในสามของเมืองจะจมอยู่ใต้ระดับน้ำทะเล อย่างไรก็ดี กระทั่งถึงปัจจุบันนี้รัฐออกมาตรการในการรับมือปัญหาดังกล่าวเพียงไม่กี่ประการ ดังการสร้างกำแพงกันคลื่นสูง 2 ถึง 4 เมตรบริเวณทางชายฝั่งตอนเหนือของจาการ์ตา เพื่อป้องกันชายฝั่งกัดเซาะและระดับน้ำขึ้นน้ำลงจากระดับน้ำทะเลหนุน ซึ่งไม่เพียงบดบังเส้นขอบฟ้าแต่ยังทำให้ชาวประมงต้องแบ่งแยกระหว่างที่อยู่อาศัยกับเรือของพวกเขา ปัจจุบันมีการสร้างกำแพงไปแล้ว 9.3 กิโลเมตร จากเป้าหมายทั้งหมด 62 กิโลเมตร กระนั้นน้ำก็ยังรั่วซึมเข้ามาในกำแพงนี้ได้อยู่ดี นอกจากนี้ ปลายปี 2562 กำแพงกันคลื่นยาว 100 เมตร หนา 1 เมตรได้ถล่มลงและค่อย ๆ ลงที่อ่าวจาการ์ตา ปัจจุบันพื้นที่ที่กำแพงถล่มลงมามีลักษณะเป็นทางลาดอันสมบูรณ์แบบและกลายเป็นพื้นที่ตกปลาริมหาดที่ไม่มียุงมารบกวนที่แพงที่สุดในโลก การใช้งบประมาณ 1.5. ล้านล้านรูเปีย (105 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในการสร้างนี้ดูเหมือนจะเป็นการสิ้นเปลืองอย่างมหาศาล

จาการ์ตาไม่ใช่เมืองเดียวที่กำลังจม หากยังรวมถึงเมืองอื่น ๆ ในโลกที่กำลังเผชิญปัญหาเดียวกันนี้ เช่น กรุงเทพมหานคร นครโฮจิมินห์ เซี่ยงไฮ้ เวนิส และรอตเทอร์ดาม (พื้นที่กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของเมืองรอตเทอร์ดาม ประเทศเนเธอร์แลนด์ได้อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลเรียบร้อยแล้ว) รัฐบาลของเมืองเหล่านี้กำลังพยายามป้องกันไม่ให้เมืองต้องจมน้ำผ่านโครงการที่มีมูลค่ามหาศาล และปฏิบัติราวกับว่าพวกเขาเป็นพระเจ้า ทั้งที่ในความจริงแล้วการสูญเสียระบบนิเวศและการเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โปรเจคเหล่านี้ทำได้เพียงแค่ซื้อเวลาเพิ่มเติม ส่วนชะตากรรมของการย้ายเมืองหลวงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จากความปรารถนาในการที่จะกลายเป็นสังคมชนชั้นกลางระดับบน ภายใต้ฉากหน้าเรื่องชาตินิยม สิ่งหนึ่งที่เห็นได้จากการออกแบบทางสถาปัตยกรรมของเมืองใหม่นี้เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความเป็นหนึ่งเดียว (โดยบังเอิญ อีร์วัน อะห์เมตต์ (Irwan Ahmett) และฉันกำลังเริ่มโครงการ ที่ทำการสำรวจอดีตเหมืองแร่ เสมือนเป็นทะเลสาปมีพิษที่ยังคงมีหลงเข้ามา บริเวณปานาจัม ในจังหวัดกาลิมันตันตะวันออก)

เท่าที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ ทะเลถูกมองในฐานะเป็นสินค้า โดยที่ไม่ได้มีการสนใจดูแลรักษาไม่ว่าจะเป็นจากระดับภูมิภาคหรือแม้กระทั่งมนุษย์เองที่อาศัยทะเลในการดำรงชีวิต เรามักได้ยินเรื่องราวของวีรบุรุษผู้กล้าที่สามารถเอาชนะศัตรูที่เข้ามารุกราน แต่เรื่องราวเกี่ยวกับทะเลยังคงเป็นเรื่องลึกลับที่ไม่ค่อยมีใครเข้าใจ ย่านธุรกิจและย่านที่อยู่อาศัยของจาการ์ตาซึ่งเป็นศูนย์กลางของเมืองขยายออกไปทางใต้ ซึ่งไกลห่างจากทะเลไปเรื่อย ๆ มากไปกว่านั้น น้ำทะเลที่อ่าวจาการ์ตาที่มีสีดำ ส่งกลิ่นเหม็น และเต็มไปด้วยมลพิษก็ยิ่งทำให้เราหันหลังให้ทะเลมากขึ้นเรื่อย ๆ ราวกับว่าทะเลเป็นถังขยะขนาดใหญ่ ในภาษาอินโดนีเซียมีคำพูดว่า “Ke laut aja lo!” ซึ่งแปลตรงตัวว่า “ไปทะเลกัน” แต่ถูกใช้ในความหมายว่า “ไปตายซะไปไอ้เ-ี้ย” สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติที่มีีต่อทะเลว่าเป็นพื้นที่สูญเปล่าและไร้ประโยชน์ โดยทั่วไป การพูดถึงภาคพื้นสมุทรในหมู่เกาะก็มักให้ความสำคัญกับพื้นแผ่นดินมากกว่า ดังคำว่า “หมู่เกาะ” ที่ควรจะหมายถึง “ประเทศบนท้องทะเลที่รายล้อมด้วยเกาะต่าง ๆ” มากกว่าหมายถึง “เกาะที่รอบด้วยทะเล” 2

เกาะ Sunken Nirwana, ภาพถ่ายโดยอีร์วัน อะห์เมตต์

จากการเดินทางบริเวณชายฝั่งจาการ์ตาเป็นประจำตลอดระยะเวลาสองปีที่ผ่านมา (จากการทำโครงการศิลปะที่ชื่อว่า “Ziarah Utara”) ทำให้ฉันเรียนรู้ถึงความเข้าใจผิดที่มีต่อทะเลในฐานะที่เป็นคนจากแผ่นดินใหญ่ ตั้งแต่ความไม่เข้าใจเรื่องกระแสน้ำขึ้นลงตามช่วงเวลา ความแตกต่างของอากาศบนทะเลและบนบก ซึ่งทำให้ตระหนักถึงความสำคัญของอิทธิพลของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ที่มีต่อระดับน้ำทะเลมากขึ้นเพื่อที่จะสามารถว่ายน้ำได้อย่างปลอดภัย ในประเทศอื่น ๆ ที่ล้อมรอบด้วยทะเลอย่างประเทศเนเธอร์แลนด์ เด็กนักเรียนจะถูกสอนให้สามารถว่ายน้ำได้ บริเวณชุมชนชาวประมงริมชายฝั่งจาการ์ตา เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นสูงเหนือศีรษะก่อนพระอาทิตย์ตก เด็ก ๆ จะกระโดดลงไปในทะเลเพื่อคลายร้อน ในขณะที่พ่อแม่ของพวกเขา ซึ่งเป็นชาวประมงก็จะใช้เรือยนต์ขนาดเล็กที่สามารถแล่นในน้ำตื้นได้เพื่อออกไปจับปลา แม้ว่าทะเลที่ใกล้ชายฝั่งจะปนเปื้อนไปด้วยมลพิษ อันหมายความว่าปลาที่จับได้ย่อมเต็มไปด้วยสารปนเปื้อน ไม่ต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในมหาสมุทรที่ต้องใช้เรือขนาดใหญ่ในการจับปลา อย่างไรก็ดี รายได้ของชาวประมงเหล่านี้กลับตรงกันข้ามกับปริมาณปลาอันมากมายในมหาสมุทร ชะตากรรมของพวกเขาเหมือนกับชาวไร่ชาวนาที่ทำการเกษตรขนาดเล็ก กว่าที่ปลาจะถูกจับมาเป็นอาหารบนโต๊ะอาหารของเรานั้นต้องผ่านกระบวนการและขั้นตอนที่ใช้เวลานาน ชาวประมงที่จับปลาด้วยตนเองที่มีรายได้น้อย ได้ใช้เวลาหลายปีแต่คุณภาพชีวิตของพวกเขาก็ยังไม่ดีขึ้น กล่าวได้ว่าชาวประมงในบริเวณชายฝั่งด้านทิศเหนือของเกาะชวา (Pantura) ล้วนถูกคุมขังและทรมารอยู่ระบบแห่งความยากจนนี้

เสาส่งสัญญาณของเกาะNirwana, ภาพถ่ายโดยอีร์วัน อะห์เมตต์

ในปี 2557 ท่ามกลางเงื่อนไขที่ยากลำบากเหล่านี้ มีข่าวว่าเรือประมงหลายลำในอ่าวจาการ์ตาไม่สามารถแล่นออกไปกลางทะเลได้เพราะว่ามีคนไล่พวกเขาออกมา อันส่งผลให้พวกเขาต้องใช้เส้นทางที่ไกลขึ้นเพื่อออกไปหาปลา ต่อมาภายหลังจึงพบว่ามีโครงการถมทะเลด้วยทราย เพื่อสร้างเกาะ D หรือเกาะกอล์ฟ (Golf island) ตามใบปิดโฆษณา เกาะนี้เป็นหนึ่งในโครงการการสร้างเกาะเทียมรอบอ่าวจาการ์ตาในจำนวนทั้งหมด 17 เกาะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเมกะโปรเจกต์ตามโครงการการพัฒนาชายฝั่งแบบบูรณาการแห่งชาติ (National Capital Integrated Coastal Development หรือ NCICD) หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “กำแพงทะเลยักษ์” (Giant Sea Wall) โดยมีเป้าหมายเพื่อปกป้องเมืองจาการ์ต้าจากน้ำท่วม การสร้างเกาะเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันชายฝั่ง ทั้งยังเป็นการขยายแผ่นดินเพื่อเพิ่มจำนวนพื้นที่ในการทำธุรกิจและที่อยู่อาศัย แต่ชาวประมงต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการเดินเรือที่เพิ่มขึ้น จากการปิดกั้นเส้นทางที่ทำให้พวกเขาใช้ระยะทางที่ไกลขึ้น สวนทางกับปริมาณปลาที่จับได้และรายได้ที่น้อยลงเรื่อย ๆ ต่อมาในปี 2559 ชาวประมงหลายร้อยคนปิดร่วมกันปิดเกาะ G หนึ่งในเกาะเทียมที่ในขณะนั้นยังมีแต่ทรายที่ถมเรียบร้อยแล้ว การประท้วงคัดค้านโครงการนี้ดำเนินไปอย่างเข้มข้น เนื่องจากเชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลและยิ่งก่อสร้างมากขึ้นเท่าใดทะเลก็จะยิ่งปนเปื้อนมากขึ้นเท่านั้น กระทั่งในปี 2561 มีคำสั่งระงับการก่อสร้าง แต่การพัฒนาสิ่งต่าง ๆ บนเกาะที่สร้างเรียบร้อยแล้ว (เกาะ C, D, G และ N) ก็ยังดำเนินต่อไป ตึกที่สร้างบนเกาะ D ที่ถือว่าผิดกฎหมายก็ถูกทำให้ถูกต้อง คงยากที่แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ได้เพราะมูลค่าในการก่อสร้างอันมหาศาล ในขณะที่ในปี 2562 เกาะ G ที่ถูกสร้างขึ้นมาก็ถูกกัดกร่อนด้วยกระแสน้ำจนกลายเป็นจุดพักของนกนางนวลและนกกระสา แต่ในอีกไม่นาน เกาะ G ก็กลายเป็นเกาะที่มีการก่อสร้างอย่างเต็มที่

เกาะ G, ภาพถ่ายโดยอีร์วัน อะห์เมตต์

สิ่งที่ย้อนแย้งของโครงการถมทะเลอันยิ่งใหญ่นี้คือ การที่มีเกาะจำนวน 7 เกาะในจำนวนหนึ่งพันเกาะที่จมอยู่ใต้ทะเลจากปัญหาน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น อันได้แก่ Ubi Besar, Ubi Kecil, Nirwana, Dapur, Payung Kecil, Air Kecil และ Nyamuk Kecil ครั้งหนึ่งเกาะ Ubi Besar นั้นเคยเป็นเกาะที่มีประชากรอาศัยอยู่ แต่การทำเหมืองทรายเพื่อสร้างชายหาดเทียมและการสร้างสนามบินนานาชาติซูการ์โนฮัตตาตั้งแต่ปี 2495-2497 ส่งผลให้เกาะค่อย ๆ จมลงกระทั่งผู้คนไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้ ผู้อาศัยต้องอพยพในฐานะผู้ลี้ภัยจากสภาพภูมิอากาศ (climate refugees) ไปยัง Pulau Untung Jawa ณ ปัจจุบันนี้เกาะนี้อยู่ต่ำกว่าผิวน้ำ 4 เมตร และเรายังคงมองเห็นเศษซากประการังที่ตายแล้ว รวมถึงร่องรอยอารยธรรมของมนุษย์ นอกจากจะเป็นเกาะที่จมลงอย่างสิ้นเชิงแล้ว เกาะ Ubi Besar ยังมีเรื่องเศร้าอีกเรื่องหนึ่ง ในปี 2505 เกาะนี้เคยเป็นเกาะที่ว่างเปล่าและแห้งแล้ง มีเพียงซากของต้นไม้ต้นหนึ่ง ใต้ต้นไม้นี้เองที่เป็นที่ฝังศพของ Sekar Madji Kartosuwiryo  [2448-2505; ผู้แปล] ผู้นำขบวนการดารุล อิสลาม (DaruI Islam) ในช่วงระหว่างปี 2492-2505 Kartosuwiryo และผู้ร่วมขบวนการประกาศตัวเป็น “รัฐอิสลามอินโดนีเซีย” [เพื่อต่อสู้กับสาธารณรัฐอิสลามในช่วงเวลานั้น; ผู้แปล] การเคลื่อนไหวนี้เป็นการเคลื่อนไหวแบบใต้ดิน พวกเขาซ่อนตัวอยู่ตามภูเขา ในท้ายที่สุดเขาถูกจับกุมและถูกตัดสินให้ประหารชีวิตโดยศาลทหาร ครอบครัวของเขาเคยเชื่อกันว่าการประหารชีวิตและมีการฝังศพของเขาไว้ที่เกาะ Onrus รวมถึงการจัดให้มีการระลึกถึงเขาที่เกาะนั้นมาตลอด จนกระทั่งในปี 2555 มีการค้นพบหลักฐานเอกสารการตัดสินประหารชีวิต ซึ่งบันทึกโดย Fadli Zon ระบุสถานที่การประหารชีวิตว่าเป็นเกาะ Ubi Besar กล่าวได้ว่า ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 80 เกาะ Ubi Besar ได้หายไปอย่างสิ้นเชิง ฉันได้เดินทางไปบริเวณนั้นและพบว่าแม้แต่เสาส่งสัญญาณที่เคยมีก็หายไปด้วยเช่นกัน จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนให้เห็นว่าประวัติศาสตร์เองก็ปฏิเสธที่จะจำร่องรอยของบุคคลสำคัญของชาติ

ในผลงาน “The Undertow of Sorrow” 3 ฉันและอีร์วัน อะห์เมตต์ ร่วมกันสร้างผลงานศิลปะแสดงสด ซึ่งอาศัยกระแสน้ำเหนือเกาะ Ubi Besar โดยสะท้อนให้เห็นถึงจุดตัดขององค์ประกอบทั้งสามประการได้แก่ การทำลายระบบนิเวศ การปะทะของอุดมการณ์ และการตอบสนองทางอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ เพื่อใช้การในการตามหาเกาะที่สูญหายหรือเกาะที่จมหายไป

เกาะ Ubi Besar, จากบันทึกของ Fadli Zon

ในอีกด้านหนึ่ง ทางตะวันออกสุดของเกาะชวา มีเกาะใหม่ล่าสุดที่เกิดขึ้นมาจากเหตุการณ์โคลนถล่มต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2549 ชื่อว่า “Lusi Island” (คำว่า “Lusi” นี้มาจากคำแรกของ ชื่อเต็มว่า “Lumpur Sidoarjo” ซึ่งในภาษาอินโดนีเซีย “Lumpur” แปลว่า “โคลน” [ส่วนคำว่า “Sidoarjo” เป็นชื่อตำบล] ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากมนุษย์นี้เข้าถล่มหมู่บ้านกว่า 12 หมู่บ้าน ผู้คนหลายแสนคนต้องไร้ที่อยู่อาศัย พื้นที่ทางการเกษตร ทั้งข้าวและน้ำตาลกว่าหนึ่งพันเฮกตาร์ถูกทำลาย และสัตว์เลี้ยงกว่าพันตัวสูญสลายไป นอกจากนี้ความทรงจำของหมู่บ้านก็สูญหายไป ไม่เฉพาะชื่อทางการของหมู่บ้านที่หายไปจากบันทึกของรัฐ หากยังรวมถึงการที่ความทรงจำเหล่านี้ถูกแทนนี้ด้วยเรื่องเล่าใหม่ ๆ ที่มาพร้อมกับเกาะแห่งใหม่ในรูปแบบของป่าโกงกาง เกษตรกรที่สูญเสียที่ดินทำกินต้องหาทางในการทำมาหากินด้วยการเปลี่ยนอาชีพมาเป็นการทำธุรกิจเรือให้เช่า หรือไม่ก็ขับมอเตอร์ไซด์รับจ้างสำหรับนักท่องเที่ยว กระทั่งทุกวันนี้ดินโคลนก็ยังถล่มอย่างต่อเนื่องจนไม่รู้ว่าพื้นที่ของเกาะจะมีขนาดเท่าไร แม้ว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นเป็นเวลากว่า 14 แล้ว แต่ข้อตกลงเรื่องค่าทดแทนของพลเรือนก็ยังไม่เสร็จสิ้น กระบวนการเจรจาดำเนินไปอย่างช้า ๆ ในขณะที่ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นก็ดูเหมือนจะถูกปกคลุมแทนที่ด้วยความหนาแน่นของป่าโกงกาง อาจกล่าวได้ว่า สิ่งที่ย้อนแย้งคือการภัยธรรมชาติที่ทำลายระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมที่อาจจะจัดว่าเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจนี้จะสามารถเปลี่ยนไปสู่ดินแดนที่เต็มด้วยพื้นที่สีเขียวและการฟื้นฟูชายฝั่งที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล กระทั่งอาจเรียกได้ว่าเป็นภาพมายาของเกาะ Lusi

การอยู่อาศัยของผู้คนบนตาข่ายจับปลา หรือ Bagang Tancap, ภาพถ่ายโดยอีร์วัน อะห์เมตต์

ทะเลเบื้องหลังเราไม่เพียงเพิ่มสูงขึ้น หากยังรุกร้ำแผ่นดินมากขึ้นเรื่อย ๆ ราวกับว่าเรากำลังชดใช้หนี้ที่สร้างไว้ เราอาจจะยังไม่ตระหนักถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้น และรอยเท้าคาร์บอนในช่วงชีวิตของเรา กระนั้นเรามักจะรู้สึกเสียใจเมื่อสายไปแล้วเสมอ เมื่อระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นมากขึ้นเท่าไหร่ก็จะยิ่งมีแผ่นดินที่จมลงมากขึ้นเท่านั้น ฉันผู้ซึ่งกลัวน้ำและไม่สามารถว่ายน้ำได้ ฉันไม่อาจเปรียบเทียบตัวเองกับเด็กที่อยู่บริเวณชายฝั่งหรือเด็กทารกที่กำลังดำน้ำไปหาธนบัตรดอลลาร์บนปกอัลบั้มของ Nirvana อาจจะต้องพึ่งพาเกาะเทียมที่สร้างขึ้นจากขยะพลาสติกที่ไม่ย่อยสลายทางชีวภาพ ด้วยการทำให้เกาะนี้มีสถานภาพทางกฎหมายเนื่องจากใบอนุญาติการก่อสร้างที่ถูกนำออกไปจากกฎหมาย Omnibus เรียบร้อยแล้ว ซึ่งทำให้เกาะสามารถลอยตัวได้และจะไม่ถูกทำลาย หรือบางทีวิวัฒนาการของมนุษย์อาจจะเร่งความเร็วขึ้นจากการที่เราบริโภคปลาที่อุดมไปด้วยไมโครพลาสติก ซึ่งพบได้แม้กระทั่งในเด็กแรกเกิด การกลายพันธุ์ทางพันธุกรรมอาจจะเกิดขึ้นภายในไม่ช้านี้จากมลพิษที่เพิ่มปริมาณมากขึ้น ไวรัสใหม่ ๆ ที่ติดต่อสู่มนุษย์ ตลอดจนอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นก็ยิ่งช่วยเร่งปฏิกิริยาให้เกิดเร็วมากขึ้น แนวคิดเรื่อง “Anthropocene” หรือ “ยุคสมัยของมนุษย์” ที่เห็นว่ามนุษย์เป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้นั้นสะท้อนให้ถึงวิธีที่เราปฎิบัติต่อธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่ไม่ใช่มนุษย์ เช่นเดียวกันกับความผิดของกฎหมายที่มนุษย์สร้างขึ้น รวมไปถึงจริยธรรม ศาสนา และอุดมการณ์ต่าง ๆ เช่น ชาตินิยม แม้ว่าเราจะสามารถเอาชนะธรรมชาติได้แต่เรายังไม่สามารถเอาชนะไวรัสได้ บางทีการคาดหวังถึงการเปลี่ยนแปลงหัวใจของมนุษย์อาจเป็นฝันลม ๆ แล้ง ๆ ดังนั้นแล้วเราควรปล่อยให้ทุกสิ่งเป็นไปตามกฏของธรรมชาติและวิถีของวิวัฒนาการ

ติตา ซารีน่า (Tita Salina) ใช้การแทรกแซง ศิลปะจัดวาง และภาพเคลื่อนไหวในการโต้ตอบประเด็นที่เกิดขึ้นในพื้นที่เฉพาะเจาะจงอันส่งเสียงก้องสะท้อนไปทั่วโลก 1001st Island – the most sustainable island in archipelago, พ.ศ.2558 ได้สำรวจประเด็นข้ามชาติว่าด้วยเรื่องการเพิกถอนสิทธิ์ของชุมชน มลพิษทางสิ่งแวดล้อม และการฉ้อฉลของรัฐบาล ตามที่รัฐบาลได้แถลงการณ์ไว้ในแผนซ่อมแซมและฟื้นฟูหาดจาการ์ตา ติตาร่วมแสดงในนิทรรศการ Bangkok Art Biennale, หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, กรุงเทพฯ (พ.ศ.2563); The Coming World: Ecology as the New Politics 2030–2100, Garage Museum of Contemporary Art, มอสโคว, รัสเซีย (พ.ศ.2562); Irwan Ahmett and Tita Salina: The Ring of Fire (พ.ศ.2557 – ปัจจุบัน), NTU Centre for Contemporary Art Singapore, สิงคโปร์ (พ.ศ.2562) และ From Bandung to Berlin: If all of the moons aligned, SAVVY Contemporary, เบอร์ลิน, เยอรมันนี (พ.ศ.2559) เป็นต้น