นักล่า
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีนักล่าจอมพลังสองคน คนหนึ่งชื่อบาราตา อาศัยอยู่ภายใต้กรวยภูเขาไฟคุกรุ่นที่ซึ่งประดาช้างเดินท่องอย่างเสรีไปทั่วเกาะชวา1 ในอินโดนีเซีย อีกคนชื่อตาจึ่งขึ่งดั้งแดงผู้ตระเวนล่องไพรไปทั่วดินแดนที่บัดนี้รู้จักกันในนามประเทศไทยและลาวตามแนวแม่น้ำโขง2 ที่พญานาค3 หลับใหลอยู่ใต้ท้องบาดาล
เรื่องราวของบาราตาเล่าขานกันมานานเนิ่นก่อนอาณาจักรจะถือกำเนิดหรือเมืองต่าง ๆ จะแบ่งแยกออกจากกัน ในกาลก่อน มีช้างมากกว่ามนุษย์บนเกาะชวา แต่แล้วเมื่อมนุษย์หักร้างถางพงสร้างอารยธรรมขึ้นบนเกาะแห่งนั้น พวกเขาไล่ล่าเข่นฆ่าช้างทั้งหลาย ก่อศึกสงครามกระทั่งบรรดาช้างแทบสูญพันธุ์สิ้น ท่ามกลางหมู่นักล่าทั้งหมดมีชายผู้หนึ่งแข็งแกร่งและเป็นที่เคารพยำเกรงกว่าใครนามว่าบาราตา4 เขากร้าวแกร่งห้าวหาญและสังหารช้างได้มากกว่าผู้ใดเคยทำได้ บาราตาที่มีชื่อเสียงขจรไกลแต่งงานกับหญิงสาวผู้งดงามที่สุดและตั้งรกรากอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งภายใต้ภูเขาไฟ ขณะที่ชายทั่วเกาะยังเที่ยวไล่ล่าช้างและผู้คนพากันสร้างบ้านแปงเมืองขยายครอบครัว อยู่มาวันหนึ่ง ช้างหนุ่มคึกคะนองบังเอิญเหยียบลูกสาวคนเดียวของบาราตาจนถึงแก่ความตาย ด้วยหัวใจแตกสลายและสิ้นหวัง เขาตระหนักในครั้งนั้นว่าหากต้องการให้ความสงบสันติบังเกิดในจิตใจ เขาต้องช่วยชีวิตช้างเอาไว้ให้ได้ บาราตาจึงถอยร่นลึกเข้าไปจนสุดภูเขาไฟอีกฝั่งที่ซึ่งเหล่าช้างที่ถูกทำร้ายหนีมาสิ้นใจ เพื่อพยายามรักษาพวกมัน จนวันหนึ่งเหลือช้างที่ได้รับบาดเจ็บทว่ายังมีชีวิตอยู่เพียงหนึ่งตัวเท่านั้น บาราตาจึงกล่าวแก่ช้างตัวนั้นว่าวิธีเดียวที่จะทำให้มันปลอดภัยคือเขาต้องร่ายมนตร์คาถาเปลี่ยนมันเป็นต้นไม้เสีย ด้วยนักล่าทั้งหลายจะไม่หยุดยั้งจนกว่าช้างตัวสุดท้ายจะล้มลงสิ้นใจ เนิ่นนานหลายปีนับจากนั้น ช้างตัวนี้มีชีวิตอยู่ในรูปต้นไทรขาวซึ่งภายในมีบาราตาอาศัยอยู่ ทว่าอารยธรรมกลับไล่ตามเขามาจนทัน
บัดนี้ดินแดนแห่งนั้นเอ่อล้นไปด้วยอารยธรรมมนุษย์ที่มีแต่จะต้องใช้ที่ดินเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนรุกคืบสูงขึ้นไปสุดขอบภูเขาไฟอีกฝั่ง ไทรขาวต้นนั้นขวางเส้นทางที่ถนนจะตัดผ่านจึงมีคำสั่งให้โค่นมันลง ขณะนั้นแม้ไม่มีนักล่าเหลือแล้ว แต่ชายฉกรรจ์ทั้งหลายกลับถือขวานในมือออกไล่ล่าต้นไม้แทน ทว่าบาราตาผู้อาศัยอยู่ในต้นไทรขาวมีฤทธิ์มาก ทุกครั้งที่มีคนพยายามตัดไม้ จะต้องมีคนตายเพิ่มหนึ่งคน หญิงผู้หนึ่งที่มีดวงตาวิเศษมองเห็นช้างตัวนั้นและบาราตาในต้นไทรขาวกล่าวว่า “ไทรต้นนี้ศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง ปล่อยมันไว้เช่นนี้เถิด” แต่อนิจจา เช่นเดียวกับเหล่านักล่าในกาลก่อน ชายที่มาพร้อมขวานเหล่านั้นไม่ยอมฟัง พวกเขาคิดแต่ว่าไม่มีสิ่งใดจะศักดิ์สิทธิ์ไปกว่าการเลี้ยงปากท้องคนในครอบครัวของตน ฉะนั้นพวกเขาจึงตั้งใจจะโค่นไทรต้นนั้นลงให้จงได้ บาราตาตระหนักว่าสมควรแก่เวลาปล่อยช้างให้เป็นอิสระแล้ว จึงร่ายมนตร์อีกบท จากนั้นทั้งเขาและช้างตัวนั้นก็ออกเดินทางขึ้นสู่ยอดภูเขาไฟให้ไกลเกินกว่ามนุษย์จะไปถึง แต่แล้ววันหนึ่ง ช้างตัวนั้นไม่อาจเดินต่อไปได้ บาราตาจึงร่ายคาถาเปลี่ยนช้างให้กลายเป็นหินตลอดกาล บางครั้งบางครายามค่ำคืนอันเงียบสงัด คุณอาจยังได้ยินเสียงช้างกู่ร้องดังอยู่ไกล ๆ และเห็นรูปเงาพร่าเลือนของบาราตายามเมื่อเขาเดินท่องไปบนยอดภูเขาไฟลูกนั้น เรื่องราวของบาราตานักล่าช้างอาจเป็นเรื่องสมมติ แต่หินรูปช้างคล้ายในหนังสือที่แต่งขึ้นจากจินตนาการกลับพบได้ที่หมู่บ้านกาลิอาเดม (Kaliadem) แวดล้อมไปด้วยนักท่องเที่ยวและรถจี๊ปพาทัวร์ชมลาวานับร้อย
ห่างออกไปไม่ไกลนักในอีกส่วนหนึ่งของโลก มีนักล่ามือฉมังอีกผู้หนึ่งนามว่าตาจึ่งขึ่งดั้งแดง เขามีรูปร่างใหญ่โตเสียจนว่ากันว่าเด็ก ๆ เข้าไปวิ่งในจมูกของเขาได้เลยทีเดียว วันหนึ่งนักล่าผู้นี้ตัดสินใจออกล่าควายเงิน หลังจากพบเหยื่อที่หมายตาเข้าโดยบังเอิญแถบแม่น้ำโขง เขาตามรอยควายตัวนั้นไปถึงหนองน้ำแห่งหนึ่ง ทว่าขณะกำลังเหนี่ยวสายเตรียมปล่อยลูกธนูมรณะจากหน้าไม้ พ่อค้ารายหนึ่งกลับปรากฏกายขึ้น เขาพายเรือล่องไปตามแม่น้ำทำให้ควายตกใจเตลิดหนีไป ด้วยความโกรธเคืองที่เหยื่อของตนหนีรอดไปอย่างกระชั้นชิด นักล่าผู้นั้นจึงครุ่นคิดวางแผนเอาคืนพ่อค้าด้วยการใช้พละกำลังอันแข็งแกร่งและรูปร่างใหญ่โตขนหินก้อนใหญ่จำนวนมากมาวางขวางทางแม่น้ำ ทำให้ไม่มีพ่อค้าคนใดข้ามผ่านแม่น้ำมาได้อีก
ทว่าที่นายพรานนักล่าไม่รู้คือ การกั้นแม่น้ำเช่นนั้นทำให้บัดนี้ชาวบ้านไม่สามารถจับปลาเลี้ยงชีพได้เช่นกัน ชาวบ้านที่หวังหวนคืนสู่วิถีดั้งเดิมของตนจึงพากันสวดอธิษฐานขอความช่วยเหลือจากทวยเทพ หนึ่งในเทพเจ้าแถบนั้นได้ยินเสียงคร่ำครวญโหยไห้จึงจำแลงตนเป็นพระธุดงค์ไปหานักล่า เมื่อเห็นว่าเขาขนก้อนหินด้วยมือทีละก้อน พระรูปนั้นแนะนำให้เขาใช้ลำไม้ไผ่ขนหินหลายก้อนในคราวเดียวแทน นับเป็นโชคร้ายของนักล่าผู้นั้น เขาถูกลำไม้ไผ่แหลมคมบาดคอจนดิ้นทุรนทุรายด้วยความเจ็บปวดแสนสาหัส สุดท้ายเขาตกลงไปในแม่น้ำและสิ้นใจอย่างทุกข์ทรมาน
นิทานพื้นบ้านเรื่องตาจึ่งขึ่งดั้งแดงนี้เป็นเรื่องเล่าขานที่มาของชื่อบริเวณหนึ่งซึ่งปัจจุบันเรียกว่าแก่งคุดคู้ ตั้งอยู่ในอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย (ใกล้ชายแดนติดกับลาว) พื้นที่นี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในช่วงหลายปีให้หลัง โดยที่ความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยระหว่างคนในพื้นที่และวิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำของพวกเขายังคงดำเนินต่อไป การหวนพิจารณาถึงตำนานนายพรานนักล่าและควายเงินชวนให้เราฉุกคิดถึง “นักล่า” ในปัจจุบันที่ปรากฏกายในรูปสิ่งปลูกสร้างขนาดมหึมาจากน้ำมือมนุษย์ เพียงสองร้อยกิโลเมตรจากแก่งคุดคู้ลงไปทางตอนใต้ของแม่น้ำโขง เส้นทางน้ำถูกกีดขวางโดยเขื่อนไซยะบุรีซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำ อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ไม่เหมือนนิทานพื้นบ้านเรื่องนั้นคือไม่เพียงการเดินทางโดยเรือเท่านั้นที่ถูกรบกวนและไม่เพียงชาวประมงเท่านั้นที่ไม่สามารถทำมาหากินได้ เขื่อนยังส่งผลต่อกระแสการไหลของน้ำในแม่น้ำอันนำไปสู่การขึ้นและลงของระดับน้ำผิดฤดูกาลจนสร้างความเสียหายรุนแรงต่อระบบนิเวศในท้องถิ่น ทำให้เกิดการสูญพันธุ์ของปลาหลายชนิด รวมไปถึงวิถีชีวิตเกษตรกรรมของผู้คนในแถบนั้นด้วย สิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่าการกระทำของนักล่าในนิทานคือการพัฒนาต่าง ๆ เหล่านี้สร้างผลเสียในวงกว้างต่อทั้งชุมชนในพื้นที่และแม้กระทั่งธรรมชาติเองด้วยเช่นกัน
ตามรอยนักล่า
พวกเรากลุ่มภัณฑารักษ์ออกเดินทางตามรอยเรื่องราวนักล่าในนิทานพื้นบ้านเหล่านั้นเข้าสู่ผืนป่าและแนวแม่น้ำไปพร้อมกับศิลปินรับเชิญ มาริอันโต้และเรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล เรานำเสนอตัวละครอย่างบาราตาและตาจึ่งขึ่งดั้งแดงตามลำดับเพื่อให้ผู้คนได้มองเห็นตัวแทนของ “นักล่า” ในยุคสมัยปัจจุบันผ่านมุมมองทางศีลธรรม เริ่มตั้งแต่บริษัทน้ำ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการทำเหมืองทรายผิดกฎหมาย การวิวัฒน์อุตสาหกรรม เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ และโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล
ในประเทศอินโดนีเซีย ภัณฑารักษ์จากเลอร์ และศิลปิน มาริอันโต้ตามรอยเส้นทางลงภูเขาไฟเมอราปีในยอคยาการ์ตา5 ซึ่งเป็นภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่น พวกเขาลัดเลาะผ่านผืนป่าและต้นน้ำศักดิ์สิทธิ์ท่ามกลางอุตสาหกรรมขุดเหมืองทรายที่กระจายไปตามแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ บริเวณฐานภูเขา จุดเชื่อมต่อระหว่างโลกของมนุษย์และอมนุษย์ สิ่งที่มองเห็นและมองไม่เห็น รวมถึงโลกในเทพนิยายและโลกแห่ง “ความเป็นจริง” เห็นได้ชัดเจนยิ่งในยอคยาการ์ตาเนื่องจากมันใกล้กับภูเขาไฟเมอราปีมาก ผู้คนมองว่าภูเขาไฟลูกนี้เป็นหนึ่งในสองอาณาจักรเรืองอำนาจสุดตามตำนานของยอคยาร์กาตา โดยเชื่อมโยงผ่านแกนจินตภาพกับอาณาจักรของสุลต่านแห่งยอคยาการ์ตาและดินแดนในตำนานแห่งหนึ่งที่ปกครองโดยราชินีในทะเลทางใต้ เป็นการทำพันธสัญญาร่วมกันมาแต่โบราณเพื่อเกื้อกูลกันและกัน
ในพื้นที่รอบภูเขาไฟเมอราปี ความรู้ทางภววิทยาว่าด้วยคติจักรวาลตามความเชื่อของชาวชวาเคยอยู่คู่เคียงไปกับคุณค่าตามศาสนาอิสลาม เป็นจารีตที่มีรากเหง้ามาจากความรู้ในศาสนาฮินดูและแนวคิดวิญญาณนิยม คนท้องถิ่นเชื่อว่าพวกเขาแบ่งปันพื้นที่อยู่อาศัยไม่เพียงกับสัตว์และพืชเท่านั้น แต่ยังรวมถึงวิญญาณบรรพชน ทวยเทพ และสิ่งเหนือธรรมชาติทั้งหลาย รวมถึงผู้ปกปักษ์รักษาธรรมชาติด้วย ในการอยู่ร่วมกันเช่นนี้ สิ่งสำคัญคือต้องเคารพและปกป้องกันและกันเพื่อคงไว้ซึ่งสมดุลและการพึ่งพาอาศัย ทุกเหตุการณ์ภูเขาไฟปะทุ แผ่นดินไหว ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และโรคระบาด ล้วนเสนอแนะถึงการสร้างดุลยภาพครั้งใหม่ และจากเรื่องราวที่เล่าขานสืบต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น เราได้เห็นหลักฐานการยืนหยัดอดทนของโลกและการไล่ล่าแสวงหาอำนาจควบคุมของมนุษย์
วันหนึ่งขณะลงพื้นที่เก็บข้อมูลบริเวณฐานภูเขาไฟเมอราปี พวกเราเดินผ่านผืนป่าที่เคยประสบกับปรากฏการณ์การไหลทะลักของแก๊สทำลายล้างร้อนระอุ (pyroclastic flow) เมื่อสิบปีก่อนในการปะทุของภูเขาไฟครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง ณ ที่แห่งนั้นเราได้เห็นว่าลำต้นถูกแผดเผาจนมอดไหม้อย่างไร ได้เห็นว่าต้นไม้แม้จะล้มลงแต่รากของมันยังยืนหยัดและเติบโตต่อไปได้อย่างไร บางครั้งมันเลื้อยตามแนวขวางแล้วค่อย ๆ แทงยอดโตขึ้นตามแสงอาทิตย์ จากนั้นไม่นาน ภูมิทัศน์ก็เปลี่ยนแปลงไปเมื่อเรามาถึงที่โล่งกว้างทอดยาวสู่ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ที่แห่งนั้นเราพบต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง เปลือกต้นสีขาวเก่าแก่ดูราวกับผิวหนังเหี่ยวย่นของช้างสักตัว ชวนให้รำลึกถึงเรื่องราวของบาราตานักล่าช้าง และทำให้เราตื่นเต้นกันมาก ไม่ง่ายเลยที่จะจินตนาการว่าครั้งหนึ่งนานแสนนานมาแล้วบนเกาะแห่งนี้ (ซึ่งบัดนี้มีผู้อาศัยอยู่ 148 ล้านคนและถือว่าเป็นเกาะที่มีประชากรหนาแน่นสุดของโลก) บรรดาช้างต่างเดินท่องไปทั่วได้อย่างเสรี นักวิทยาศาสตร์มีความคิดเห็นที่ยังขัดแย้งกันว่าช้างชวา (Elephas maximus sondaicus) สูญพันธุ์ไปเมื่อใด แต่มีการกล่าวขานถึงการดำรงอยู่ของช้างชนิดนี้ในงานแกะสลักที่พบในพุทธสถานบุโรพุทโธ และในหนังสือกึ่งบันเทิงคดีอย่าง ‘Merapi Omahku (เมอราปีคือบ้านของฉัน)’ โดยอลิซาเบธ อินันเดียก (Elizabeth Inandiak)
จุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมการทำเหมืองทรายขนาดเล็กภายใต้ภูเขาไฟเมอราปีอาจสืบสาวย้อนกลับไปได้ถึงช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 หลังจากนั้นรัฐบาลอนุญาตให้ใช้เครื่องจักรกลหนักในแม่น้ำเพื่อลดปริมาณวัสดุภูเขาไฟไม่ให้ล้นทะลักเข้าสู่ไร่นาของเกษตรกรหรือก่อให้เกิดน้ำท่วมในเมืองปลายน้ำ หากทำการขุดทรายด้วยความเคารพและระมัดระวังก็จะสามารถฟื้นคืนสมดุลกลับมาได้ แต่ความละโมบโลภมากของมนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุด ฉะนั้นอุตสาหกรรมเหมืองทรายจึงกลายเป็นธุรกิจทำกำไรมหาศาล และไม่ว่ารัฐบาลจะพยายามกำกับดูแลอย่างเข้มงวดเพียงใด การลักลอบทำเหมืองทรายก็ยังคงดำเนินต่อไป ด้วยเหตุนี้จึงไม่เหลือแหล่งกักเก็บน้ำ ขณะที่แหล่งน้ำก็แห้งเหือดสิ้น และเกษตรกรประสบความยากลำบากอย่างยิ่งในการเข้าถึงน้ำในปริมาณที่เพียงพอต่อการทำการเกษตร รัฐบาลควรทบทวนกฎระเบียบเรื่องการทำเหมืองทรายและวัสดุภูเขาไฟอย่างสม่ำเสมอ แต่เจ้าของเหมืองจำนวนมากกลับลักลอบดำเนินกิจการได้โดยไม่ต้องมีเอกสารเป็นกิจจะลักษณะโดยอาศัยผู้มีอิทธิพลในพื้นที่และผู้บังคับใช้กฎหมายที่ทุจริต ทันทีที่พวกเขาขุดวัสดุภูเขาไฟขึ้นมาจากแม่น้ำจนหมด เจ้าของเหมืองก็เริ่มไปเอาทรายมาจากไร่นาของคนทั่วไป ขุดลอกเนินเขา ยื้อแย่งเอาจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ทำแม้กระทั่งขโมยทรายจากใต้ต้นไม้ (สร้างความเสียหายใหญ่หลวงแก่สิ่งแวดล้อมและทำให้มีคนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก) คนในพื้นที่ทั้งจัดการชุมนุม ประท้วง และรณรงค์ต่อต้านการกระทำที่ทำลายสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ แต่ไม่มีทีท่าว่าจะสำเร็จแม้แต่น้อยแม้จะพยายามมาแล้วหลายปี
ขณะที่ในประเทศไทย กิตติมาและเรืองศักดิ์ตามรอยเส้นทางมหานทีแม่น้ำโขงซึ่งมีการก่อสร้างเขื่อนหลายแห่งไปตลอดความยาวของแม่น้ำสายนี้ ทั้งยังมีแผนระเบิดหินที่โผล่ขึ้นมาเพิ่มเติมเพื่อเปิดทางให้การขนส่งสินค้าและเครื่องจักรกลทางการเกษตร รวมไปถึงการใช้แม่น้ำเป็นเครื่องผลิตพลังงาน โชคร้ายที่อัตราการเปลี่ยนถ่ายสู่ความเป็นอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วโดยมีเป้าหมายเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจนำไปสู่การปล่อยปละละเลยสภาพทางนิเวศวิทยา
ส่งผลให้สิ่งมีชีวิตจำนวนมากกำลังเผชิญกับการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ เรืองศักดิ์บอกเล่าเรื่องราวของตาจึ่งขึ่งดั้งแดงเพื่อแฝงคติถึงการแสวงประโยชน์จากธรรมชาติหลากหลายรูปแบบที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันผ่านการก่อสร้างเขื่อนเพื่อการเกษตร และการผลิตพลังงานไฟฟ้าก็ได้กลายเป็น “การล่า” รูปแบบใหม่ที่มาพร้อมกับการแสวงประโยชน์เกินควรจากทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างรวดเร็วและปราศจากการตรวจสอบ ทำให้ธรรมชาติเสียสมดุลและรบกวนชีวิตของผู้คนนับพันที่พึ่งพาสมดุลทางธรรมชาตินั้น
แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่ไหลผ่านพรมแดนหลายประเทศในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากที่ราบสูงทิเบตระเรื่อยผ่านจีน เมียนมาร์ ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม มีความยาวประมาณ 4,350 กิโลเมตรและหล่อเลี้ยงมากกว่า 70 ล้านชีวิตในประเทศต่าง ๆ ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมไปถึงสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์ด้วย ในประเทศไทย แม่น้ำโขงเป็นพรมแดนธรรมชาติที่ไหลผ่านแปดจังหวัดในภาคเหนือจรดภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ชุมชนท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ตามแนวแม่น้ำล้วนมีเรื่องเล่าขานและตำนานปรัมปราเกี่ยวกับแม่น้ำสายนี้ทั้งสิ้น เป็นนิทานพื้นบ้านที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์และลักษณะทางกายภาพของพื้นที่นั้น ๆ
ขณะย้อนรอยเส้นทางของตาจึ่งขึ่งดั้งแดง กิตติมาและเรืองศักดิ์ได้เรียนรู้ว่าตำนานที่เล่าขานสืบต่อกันมาตั้งแต่ก่อนจะมีชาติไทยช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวให้อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลยได้มากเพียงใดจากการที่มันเกิดขึ้นที่นี่ การเดินทางที่มีฉากหลังเป็นทิวทัศน์งดงามราวภาพวาดของเทือกเขา หุบห้วย และโขดหินชันที่แบ่งสองฝั่งแม่น้ำโขงจากกัน (ทำหน้าที่เป็นเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างไทยและลาว) เริ่มต้นขึ้นจากข่าวชิ้นหนึ่งในเดือนกรกฎาคม ปี 2562 เกี่ยวกับภัยแล้งผิดธรรมชาติที่แก่งคุดคู้ พื้นที่หนึ่งของจังหวัดเลย อันเป็นผลพวงมาจากการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีสิ่งปลูกสร้างแบบนี้ในพื้นที่แม่น้ำโขงตอนล่าง จุดที่ใกล้กับชายแดนไทยที่สุด
การรบกวนวัฏจักรตามธรรมชาติของแม่น้ำเช่นนี้นำไปสู่ปรากฏการณ์เรียกว่า “น้ำหิว (hungry water)” เมื่อสีของน้ำในแม่น้ำโขงเปลี่ยนเป็นสีฟ้าอันเนื่องมาจากการขาดแคลนแร่ธาตุและตะกอน เขื่อนที่เริ่มดำเนินงานได้ไม่นานแห่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงปัจจัยเดียวที่มีผลต่อสุขภาพของแม่น้ำโขง
เนื่องจากมีเขื่อนอีกสิบเอ็ดแห่งในจีนที่อยู่ต้นน้ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการไหลของกระแสน้ำมาตลอดคริสต์ทศวรรษที่ผ่านมา ในเดือนกรกฎาคม ปี 2563 เราได้เดินทางไปเยือนสถานที่ในนิทานพื้นบ้านเรื่องตาจึ่งขึ่งดั้งแดงเพื่อยลการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นด้วยตาตนเอง เราใช้กูเกิล เอิร์ธ (Google Earth) ศึกษาจุดหมายปลายทางแห่งต่อไป จากจุดกำเนิดตำนานปรัมปราไปสู่ส่วนที่ลึกสุดของแม่น้ำโขงซึ่งคนในพื้นที่เรียกว่า ‘สะดือแม่น้ำโขง’ ในจังหวัดบึงกาฬ เราสังเกตว่าหลายพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างผิดหูผิดตาเมื่อเทียบกับภาพจากดาวเทียม โดยมีเสียงยืนยันจากประชาชนในพื้นที่ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น และไม่มีผู้ใดรู้ว่าจุดจบจะเป็นอย่างไร ฉะนั้นการสร้างเขื่อนจึงเป็นตัวอย่างของการเอารัดเอาเปรียบธรรมชาติครั้งมโหฬารโดยฝีมือมนุษย์ในฐานะของ ‘นักล่า’ นั่นเอง
‘กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว’
ตลอดการตามรอยเส้นทางของสองนักล่าในตำนาน เราได้พบกับเรื่องเล่าขาน หลักฐานจากคำบอกเล่า และนิทานพื้นบ้านอีกมากมาย และส่วนใหญ่เริ่มต้นด้วย ‘กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว’ โดยมักมีการใช้เรื่องเล่าขานเช่นนี้เป็นวิธีสืบทอด ‘ความรู้เชิงประสบการณ์ของร่างกาย (local embodied knowledge)’ จากรุ่นสู่รุ่น คำว่า ‘ความรู้เชิงประสบการณ์ของร่างกาย’ ณ ที่นี้หมายถึง ‘ภูมิปัญญาท้องถิ่น (local wisdom)’ ในบริบทของอินโดนีเซีย และ ‘ความรู้ทางจิตวิญญาณท้องถิ่น (local spiritual knowledge)’ ในบริบทของไทย อย่างไรก็ตาม การถ่ายทอดความหมายของคำว่า “kearifan lokal” and ‘ภูมิปัญญาท้องถิ่น’ เป็นภาษาอังกฤษยังทำได้ไม่สมบูรณ์นัก กล่าวโดยสรุปคือ ‘ความรู้เชิงประสบการณ์ของร่างกาย’ หมายถึงการที่ร่างกายได้ ‘เรียนรู้’ ผ่านประสบการณ์ในพื้นที่และพิธีกรรมเฉพาะ โดยทั่วไปคนมักเข้าใจว่าความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ตรงและการที่มันดำรงอยู่ในชุมชนใดชุมชนหนึ่งมาเนิ่นนาน ไม่ว่าจะในรูปของการบอกเล่าปากต่อปาก พิธีกรรมทางจิตวิญญาณหรือทางศาสนา หรือความเชื่อตามคติพื้นบ้าน มักไม่ได้รับการเชิดชูหรือสั่งสอนมากนักในความทรงจำของกลุ่มวัฒนธรรมหลักของทั้งสองประเทศ
‘กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว’ มักถูกหยิบยกมาใช้เพื่อนำเสนอเรื่องเล่าเหตุการณ์ในอดีตหรือสิ่งที่อยู่เหนือจินตนาการของผู้คน จากเรื่องราวที่ได้ยินมาตลอดการเดินทาง ไม่ยากหากต้องนึกภาพพญานาคในฐานะสิ่งมีชีวิตในเทพนิยาย แต่เมื่อครุ่นคิดถึงความจริงที่ว่าการสูญพันธุ์ได้เปลี่ยนช้างชวาให้กลายเป็นสัตว์ในตำนานกลับเป็นสิ่งที่พวกเราคิดไม่ถึง ตลอดการเดินทาง พวกเราตระหนักว่าได้ใช้วลีนั้นมากกว่าที่เคย การลงพื้นที่ไปทำวิจัยไม่ได้เป็นภาพภูมิทัศน์ในอุดมคติที่เราเคยพานพบในวัยเด็กอีกต่อไป เราต้องถามเป็นครั้งคราวว่า “คุณยังจำได้หรือไม่ว่ากาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วตอนเรายังเด็ก เราลงไปว่ายเล่นในแม่น้ำสายนี้ได้ แต่ตอนนี้มันแทบจะแห้งขอดไปหมดแล้ว” เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติไปถึงจุดที่เราเองยังจำไม่ได้ว่าพื้นที่ที่เราเคยเล่นสนุกหน้าตาเป็นอย่างไร สืบเนื่องจากการรีดนาทาเร้นเอาจากผืนดินและสายน้ำปีแล้วปีเล่านั่นเอง
การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นประเด็นหลักที่ศิลปินรับเชิญทั้งสองท่านให้ความสนใจ เรืองศักดิ์ศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางนิเวศวิทยากายภาพของแม่น้ำโขง และผลกระทบที่การสร้างเขื่อนกั้นน้ำจำนวนมากเกินไปมีต่อชีวิตของผู้คนริมฝั่งน้ำและสิ่งมีชีวิตในแม่น้ำผ่านการเก็บข้อมูลภาคสนาม ผลงานศิลปะจัดวางชื่อ ‘Excavated Gods’ ตั้งคำถามต่อการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วของระบบนิเวศริมฝั่งโขง โดยนำเสนอผ่านแผนภาพภูมิศาสตร์จำลองไดโอรามาของภูมิทัศน์ตลอดลำน้ำโขงเป็นระยะทางกว่า 858 กิโลเมตร จากบริเวณแก่งคุดคู้ ต้นกำเนิดตำนานตาจึ่งขึ่งดั้งแดง ที่จังหวัดเลย ไปยังสุดเขตพรมแดนแม่น้ำโขงของประเทศไทย ที่อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ศิลปินลัดเลาะไปยังเส้นทางริมน้ำโขง ขณะหยุดแวะที่อำเภอต่าง ๆ เขาพบว่าความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำนั้นผันผวนขึ้นลงทุกวันโดยไม่สามารถคาดเดาได้ล่วงหน้า ความผันผวนนี้เองที่แสดงให้เห็นว่าระบบนิเวศริมโขงนั้นแปรเปลี่ยนไป เขาตามเก็บซากสิ่งมีชีวิต ตั้งแต่เศษซากปลาสายพันธุ์ต่าง ๆ โครงกระดูกสัตว์ เปลือกหอย ไปจนถึงพืชไม้น้ำใกล้สูญพันธุ์จากการไร้ฤดูของน้ำโขง เขาเก็บซากเหล่านี้มาเพื่อใช้ประกอบเป็นรากฐานของแผนภาพภูมิศาสตร์ชิ้นนี้
ศิลปินเริ่มการศึกษาครั้งนี้โดยบันทึกภาพถ่ายจากดาวเทียมที่บ่งบอกชั้นดินและความตื้นลึกของอาณาบริเวณ จากนั้นจำลองภาพเหล่านั้นขึ้นด้วยการใช้กระดาษเยื่อบางมาทำเป็นโครงสร้างชั้นดินก่อนเคลือบพื้นผิวด้านบนด้วยดินที่เก็บจากพื้นที่ต่าง ๆ ที่ไปสำรวจ ในส่วนที่เป็นแม่น้ำโขงเขาแต่งแต้มมันด้วยสีครามอันเป็นสีพิเศษที่พบได้ในงานจิตรกรรมแถบภาคอีสาน ผสานกับผงสีฝุ่นที่เป็นแร่ธาตุสกัดจากประเทศจีน ประเทศต้นน้ำที่ปัจจุบันมีเขื่อนกว่าสิบเอ็ดแห่งจนเกิดเป็นปัญหาใหญ่หลวงถึงดินแดนปลายน้ำ ซากสัตว์ที่ศิลปินใช้เป็นรากฐานของไดโอรามานี้เป็นดังกองเศษซากทับถมเพื่อให้เห็นว่าภายใต้ระบบนิเวศที่สมบูรณ์นั้นประกอบด้วยสิ่งมีชีวิตอันหลากหลายที่กำลังจะถูกทำให้สูญหายไปด้วยน้ำมือมนุษย์ ในฐานะที่สิ่งมีชีวิตเหล่านี้เป็นพื้นฐานของความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ผลงานศิลปะจัดวางนี้จึงเป็นดังอนุสาวรีย์ที่อุทิศให้ความอุดมสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นเป็นดังเทพารักษ์ คอยปกปักรักษาสมดุลทางธรรมชาติของแม่น้ำสายนี้ไว้
นอกจากศิลปะจัดวางชิ้นนี้ยังมีประติมากรรมแก้ว ‘17 million years – 57 years’ ซึ่งเป็นดั่งแคปซูลเวลาเพื่อกักเก็บสาหร่ายไก สัญลักษณ์แห่งความเสื่อมถอยของชีวิตในแม่น้ำโขง สาหร่ายชนิดนี้เป็นพืชน้ำจืดที่พบได้ในแม่น้ำโขงและถือเป็นเครื่องบ่งชี้ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ทั้งยังเป็นแหล่งสารอาหารชั้นดีในฤดูแล้ง และเคยเป็นพืชเศรษฐกิจของชาวบ้านทั้งฝั่งไทยและลาว โดยปกติแล้วไกนั้นขึ้นเองตามธรรมชาติบริเวณหาดหินและเกาะแก่งริมโขง ทั้งนี้ตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนตอนล่างของแม่น้ำโขง ประกอบกับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนตอนบนกว่าสิบเอ็ดแห่งในประเทศจีน ระดับน้ำโขงจึงผันผวนเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2562 ส่งผลให้ไกที่เกิดในน้ำโขงกลับมีลักษณะไม่สมบูรณ์ เป็นกระจุกขนาดสั้น ไม่ยาวเหมือนที่ผ่านมา ในผลงานแคปซูลเวลาชิ้นนี้ ศิลปินต้องการนำเสนอวิธีที่ระบบน้ำรักษาไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติที่ก่อร่างมากว่าหลายล้านปีก่อน (แต่กลับถูกทำลายลงอย่างง่ายดายภายในเวลาเพียงห้าสิบกว่าปีที่ผ่านมา) ผ่านการกักเก็บตัวแทนสิ่งมีชีวิตในแม่น้ำโขงที่กำลังสูญหายไปอย่างรวดเร็ว
ไกที่นำมาจัดแสดงนี้ศิลปินเก็บมาจากศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดจังหวัดเลย ผสมด้วยน้ำจากแม่น้ำโขง ศิลปินเลือกบรรจุไกเข้าไปในหลอดแก้วบอโรซิลิเกต ซึ่งเป็นหลอดแก้วผนังสองชั้นทำจากแก้วทนความร้อนสูงที่ใช้ในการทดลองวิทยาศาสตร์ เมื่อใช้บรรจุสิ่งใดลงไปแล้วของที่อยู่ด้านในจะอยู่ในอุณหภูมิคงที่ทำให้มีความคงทนและไม่เปลี่ยนแปลง หลอดแก้ววางอยู่บนประติมากรรมไม้แกะสลักรูปพญานาค เทพเจ้าแห่งเมืองบาดาลที่คอยปกปักรักษาความอุดมสมบูรณ์ของลำน้ำโขงตามตำนานความเชื่อของผู้คนหลายกลุ่มในอุษาคเนย์ (ไม้แกะสลักรูปหัวพญานาคเป็นของที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ตกแต่งพิณ เครื่องดนตรีท้องถิ่นแถบภูมิภาคอีสาน)
นอกจากนี้ยังมีผลงานชื่อ ‘Beyond Blue’ ซึ่งนำเสนอการบันทึกข้อมูลรูปแบบภาพเคลื่อนไหวเพื่อเปรียบเทียบข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมกับภาพของภูมิทัศน์สองฝั่งโขงที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จุดเริ่มต้นของการทำงานชุดนี้ของศิลปินคือการเห็นภาพถ่ายของน้ำโขงแปรเปลี่ยนเป็นสีคราม อันเป็นปรากฏการณ์พิเศษที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ปรากฏการณ์ ‘น้ำหิว’ คือการที่สายน้ำขาดแร่ธาตุและตะกอนที่จำเป็น ผลกระทบอันเนื่องมาจากการสร้างเขื่อนที่ต้นน้ำทำให้น้ำโขงที่ปกติเป็นสีน้ำตาลขุ่นเต็มไปด้วยแร่ธาตุนั้นกลับกลายเป็นสีคราม ฟ้าใสปนเขียวราวกับน้ำทะเล ในผลงานไดโอรามาของศิลปิน ยังปรากฏภาพของต้นไคร้ (ไม้ชนิดหนึ่งที่เป็นแหล่งอาหารสำคัญของฝูงปลาที่อพยพมาในฤดูน้ำหลาก) ที่กำลังจะตายเนื่องจากความผันผวนของกระแสน้ำผิดฤดู เรืองศักดิ์ยังสนใจในประเด็นที่ภาพถ่ายด้วยดาวเทียมสามารถสร้างภาพภูมิทัศน์ที่แตกต่างจากความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิง ผลงานชิ้นนี้บันทึกภาพแห่งความขัดแย้ง ระหว่างการเลื่อนเมาส์ขยับไปเรื่อย ๆ ตลอดเส้นทางแม่น้ำโขงที่ดูเหมือนปกตินั้น กลับถูกสอดแทรกด้วยการฉายภาพของความเปลี่ยนแปลงทางภูมิทัศน์อันเป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นในปัจจุบันไปพร้อมกัน อาจยังเร็วเกินไปที่จะคำนวณความเสียหายทั้งหมดซึ่งเกิดจากการสูญพันธุ์หรือการหายสาบสูญไปของสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์ในบริเวณกว้างใหญ่เช่นนั้น บันทึกเหตุการณ์ตัดสลับของเรืองศักดิ์มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงผลกระทบของการเสาะแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติโดยบริษัทเอกชน ที่เอารัดเอาเปรียบแม่น้ำความยาวกว่า 4000 กิโลเมตรเส้นนี้อย่างไร้ความปราณี (อย่างเช่นการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังน้ำ)
มาริอันโต้รวบรวมนิทานปรัมปราและเรื่องราวเกี่ยวกับภูตผีจากผู้คนสองฝั่งแม่น้ำภายใต้ภูเขาไฟซึ่งกลายเป็นพื้นที่ดำเนินการทำเหมืองขุดทราย นิทานและเรื่องผีเหล่านี้กล่าวถึงตำนานสัตว์พื้นถิ่นแห่งเทือกเขาเมอราปี โดยมักเล่าขานยามเมื่อผู้คนมารวมตัวรอบกองไฟ อยู่ในเต็นท์ หรือมีการปฏิสังสรรค์ทางสังคมโดยทั่วไป มาริอันโต้จึงเลือกสร้างผลงานศิลปะจัดวางเชิงปฏิสัมพันธ์ ‘คล้ายเต็นท์’ หลายหลัง เขาวาดภาพลงบนผืนผ้าใบของ ‘เต็นท์’ เหล่านี้ และเมื่อเข้าไปนั่งภายในนั้น ผู้ชมจะได้ยินเสียงที่แบ่งปันเรื่องเล่าเกี่ยวกับวิญญาณและภูติผีแห่งเทือกเขาเมอราปี ศิลปะจัดวางพร้อมเสียงในชื่อ “Nek Wani Ojo Wedi-Wedi, Nek Wedi Ojo Wani-Wani” (หากคุณกล้า จงอย่าลังเล หากคุณเกรง จงอย่าแสดงเหมือนว่ากล้า) เชื้อเชิญให้ผู้ชมมาร่วมฟังเรื่องเล่าจากความทรงจำของชาวบ้านขณะนั่งอยู่ในเต็นท์ที่แสดงภาพสัตว์ในตำนานต่าง ๆ รายล้อมไปด้วยถ้อยความที่เขียนในตัวอักษรชวา ภาพวาดสัตว์ในเทพนิยายที่มีรูปแบบโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์มาจากหนังสือทำนายดวงชะตาตามคติชวาที่รู้จักกันในชื่อ “ปริมบอน (Primbon)”
ศิลปะจัดวางในรูปแบบเต็นท์อีกชิ้นชื่อว่า “Urip Iku soko Sopo?” (ใครคือผู้ให้ชีวิต?) นำเสนอโครงสร้างเต็นท์ทรงเตี้ยแบบที่นักขุดเหมืองทรายมักใช้เก็บเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ เช่น จอบ พลั่วตัก รวมทั้งกรวดหรือทราย ด้านในเต็นท์หลังนี้จะได้ยินเสียงสะท้อนถึงความกังวลของมาริอันโต้ว่าด้วยผลกระทบของการทำเหมืองทรายซึ่งทำลายธรรมชาติสองฝั่งแม่น้ำบนทางลาดของภูเขาไฟเมอราปี หนึ่งในนั้นยังมีเรื่องรถบรรทุกเก้าคันที่ถูกกลบฝังอยู่ใต้โคลนไหลที่ชาวบ้านแถบนั้นเล่าให้ฟัง (หนึ่งในภาพวาดยังแสดงถึงเหตุการณ์นี้ด้วย) ความทรงจำเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าธรรมชาติมักส่งสัญญาณเตือนมนุษย์เรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างเอารัดเอาเปรียบในรูปของดินโคลนถล่มท่วมรถบรรทุกหรือแม้กระทั่งคร่าชีวิตคนงานเหมืองอยู่บ่อยครั้ง
ผู้คนที่เชื่อในภูมิปัญญาทางนิเวศวิทยาจะยอมรับวัฏจักรการปะทุของภูเขาไฟเมอราปีในฐานะพรประการหนึ่ง ด้วยมันเป็นวงจรแห่งการเริ่มต้นใหม่และความเจริญรุ่งเรือง ทุกครั้งหลังการปะทุ ดินจะยิ่งอุดมสมบูรณ์ ฉะนั้นผลผลิตครั้งต่อไปจะดีขึ้นและจะมีวัสดุภูเขาไฟมากพอ การทำเหมืองทรายขนาดเล็กสามารถสืบสาวย้อนไปถึงคริสต์ทศวรรษที่ 1980 หลังจากนั้นรัฐบาลอนุญาตให้ใช้เครื่องจักรกลหนักในแม่น้ำเพื่อลดปริมาณวัสดุภูเขาไฟไม่ให้ล้นทะลักเข้าสู่ไร่นาของเกษตรกรหรือก่อให้เกิดน้ำท่วมในเมืองปลายน้ำ หากทำการขุดทรายด้วยความเคารพและระมัดระวังก็จะสามารถฟื้นคืนสมดุลกลับมาได้ แต่ความละโมบโลภมากของมนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุด กิจกรรมการทำเหมืองขนาดใหญ่จึงถือว่าเป็นการฝืนธรรมชาติรูปแบบหนึ่ง
ภาพ “Sing Bahurekso Gunung Merapi” (ราชันแห่งภูเขาไฟเมอราปี) จะเป็นผลงานที่ผู้ชมได้เห็นเป็นชิ้นแรกเมื่อเดินเข้ามาในพื้นที่จัดแสดง นำเสนอภาพของภูเขาไฟเมอราปีในจินตนาการอันซับซ้อน แสดงถึงการซ้อนทับสั่งสมภาพการปะทุของภูเขาไฟลูกนี้ไปพร้อมกับความทรงจำของคนในพื้นที่ ขณะที่ผลงานชื่อ “Ojo Adigang Adigung Adiguna” (จงอย่าเย่อหยิ่ง หัวรั้นดื้อดึง และหมกมุ่นอยู่กับความปรารถนาที่จะชนะอยู่เสมอ) เป็นภาพวาดขนาดใหญ่ชวนให้คิดถึงการไหลของทรัพยากรภูเขาไฟจากเทือกเขาเมอราปีไปตามแม่น้ำภายหลังการปะทุครั้งใหญ่เมื่อปี 2553 ถนนหนทางจากรอยล้อรถบรรทุกของเหมืองกลายเป็นส่วนหนึ่งของภูมิทัศน์ ราวกับจะประกาศความอหังการของมนุษย์ที่ปรารถนาจะครอบครองและเอาชนะธรรมชาติ ภาพทิวทัศน์จากฝีมือมนุษย์นี้กลับไร้ซึ่งมนุษย์ แต่เครื่องมือของพวกเขาเป็นสัญลักษณ์แห่งการครอบงำของการทำให้เป็นอุตสาหกรรมที่ผงาดเหนือความสัมพันธ์ที่มนุษย์เคารพนบนอบต่อธรรมชาติในกาลก่อน ภาพวาดอีกสามชิ้นยังเปิดโปงการลักลอบทำเหมืองทรายและแสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมนี้ส่งผลอย่างไรต่อทิวทัศน์สองฝั่งแม่น้ำที่ไหลมาจากภูเขาไฟ ในภาพเหล่านี้ ผู้ชมจะสัมผัสได้ถึงการต่อต้านขัดขืนมนุษย์อย่างรุนแรง พื้นที่กว้างใหญ่ในภาพหนึ่งทำให้รู้สึกถึงการอยู่ในภูมิประเทศที่ยากจะบอกได้ว่ารังสรรค์จากมือมนุษย์หรือธรรมชาติ ขณะที่ทัศนมิติราบเรียบและลายเส้นจากผงถ่านพร่าเลือนไม่คมชัด
ชวนให้คิดถึงบรรยากาศในนิทานปรัมปราที่ราวกับไม่มีอยู่จริง ถนนหนทางที่เกิดจากรอยล้อรถบรรทุกของคนงานเหมืองทรายแทบไม่ต่างจากสายน้ำที่ไหลเอื่อย แต่เมื่อเพ่งพินิจดูในรายละเอียด ผู้ชมจะอดฉงนไม่ได้ว่าเหตุใดจึงมีรถบรรทุกมากมายนัก แล้วผู้คนเล่าหายไปไหน เกิดอะไรขึ้นในที่แห่งนั้น
ในบริบทของโครงการ ‘Pollination’ นี้ เรามุ่งศึกษา ‘ความรู้เชิงประสบการณ์ของร่างกาย’ โดยเฉพาะในประเด็นว่าด้วยมนุษยนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ เราต้องการทำความเข้าใจว่าจะใช้ ‘ความรู้เชิงประสบการณ์ของร่างกาย’ เพื่อสร้างสมดุลระหว่างความปรารถนาของมนุษย์และการตระหนักรู้ถึงผลสะท้อนจากแรงปรารถนานั้นอย่างไร โดยมีจุดประสงค์เพื่อนำเสนอว่าผลกระทบจากการกระทำของมนุษย์นั้นสามารถและควรวัดอย่างยั่งยืนได้อย่างไรบ้าง ถึงเวลาแล้วที่เราจะหันมาพิจารณาชีวิตการบริโภคของเราโดยการกลับไปรวมเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติอีกครั้ง คำถามว่าเราจะรับมือกับวิกฤติทางนิเวศวิทยาได้อย่างไรอาจตอบได้ยาก แต่เราต้องยอมรับว่ามันเป็นผลมาจากพฤติกรรมรีดเค้นเอาประโยชน์จากทรัพยากร โดยมีการพึ่งพาสังคมอุตสาหกรรมเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของชีวิตสมัยใหม่ เราอาจได้คำตอบว่าจะรับมืออย่างไรจากการศึกษาความซับซ้อนของบริบทที่เราเคยตัดสินใจละทิ้งเพื่อให้ได้มาซึ่งแนวคิดหลักเพียงประการเดียว และปล่อยให้ความรู้จากชีวิตสมัยใหม่ หรือบริบทอันซับซ้อนหลากหลายซึ่งเราขอเรียกในที่นี้ว่า ‘ความรู้เชิงประสบการณ์ของร่างกาย’ ถูกลดคุณค่าความสำคัญจากการถูกบังคับให้ใช้วิธีคิดเชิงวิทยาศาสตร์แบบตะวันตก6
‘ผู้ล่า’ เป็นนิทรรศการที่พยายามทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติแวดล้อม โดยกล่าวถึงการที่ร่างกายรับรู้และเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ในสถานการณ์เฉพาะ รวมไปถึงความรู้ที่ส่งต่อผ่านเรื่องเล่าจากปากต่อปาก จากรุ่นสู่รุ่น ในรูปของประเพณี พิธีกรรม และความเชื่อเรื่องลึกลับเหนือธรรมชาติ ศิลปินเอาตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมท้องถิ่นเหล่านี้ เรียนรู้จากเรื่องราวของผู้คน และสะท้อนออกมาในรูปแบบการสร้างสรรค์งานศิลปะ นิทรรศการนี้ยังนำเสนอกระบวนการวิจัยเชิงศิลปะของศิลปินทั้งสองท่านผ่านการจัดแสดงบทสัมภาษณ์ของคนในพื้นที่ริมฝั่งโขง ฟุตเทจการเดินทางสำรวจภูเขาไฟเมอราปี ภาพร่างผลงาน รวมไปถึงเอกสารข้อมูลประกอบการวิจัย รายงานวิจัยของภัณฑารักษ์ บทความ และหนังสือคัดสรร ควบคู่ไปกับการจัดแสดงวิดีโอบทสนทนาระหว่างศิลปินทั้งสองเพื่อเผยให้เห็นแนวคิดเกี่ยวกับ ‘นักล่า’ ที่สัมพันธ์กันในผลงานศิลปะของพวกเขา
ในขณะที่ปัจจุบันเราต่างพูดถึงธรรมชาติรอบตัวผ่านรูปประโยคจำพวก ‘ยังจำได้ไหมว่ากาลครั้งหนึ่งที่แห่งนี้เคยเป็นอย่างไร’ แต่เราจำเป็นต้องตระหนักด้วยว่าการหวนรำลึกถึงความหลังเช่นนั้นเกี่ยวพันกับบทบาทของเราในฐานะผู้กระทำด้วยเช่นกัน เราต้องยอมรับว่าเราต่างมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงและทำลายธรรมชาติ ในแง่หนึ่ง เรื่องเล่าและความรู้เชิงประสบการณ์ของร่างกายกลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้เราตระหนักในข้อนั้น การผสานหลอมรวมนักล่าให้กลายเป็นสิ่งมีชีวิตในตำนานปรัมปรากลับเป็นวิธีหนึ่งในการแสดงความเคารพนบนอบต่อความยิ่งใหญ่ของภูเขาไฟและแม่น้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิต
เกี่ยวกับ ‘Of Hunters and Gatherers’
ในวันที่การประชุมเรื่องโครงการ Pollination#3 เริ่มต้นขึ้น มีการประกาศพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายแรกในอินโดนีเซีย ขณะที่ในประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อรายแรกไม่กี่อาทิตย์ก่อนหน้านั้น วิกฤติครั้งนี้ยกระดับเป็นการแพร่ระบาดไปทั่วโลกและยังเป็นประสบการณ์ที่เราทั้งหมดได้เผชิญร่วมกัน เน้นย้ำการทำงานของระบบและความสามารถของรัฐบาลในการรับมือกับช่วงเวลาแห่งความเป็นความตาย ในขณะเดียวกัน เราไม่สามารถแยกการแพร่ระบาดออกจากวิกฤติสิ่งแวดล้อมของโลกใบนี้ไปได้ สิ่งที่ครั้งหนึ่งเคยแพร่ระบาดในสัตว์7 กลับถูกส่งต่อให้มนุษย์และไม่นานจากนั้นก็กลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์เฉพาะใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองต่อการเคลื่อนที่และเคลื่อนไหวของมนุษย์ อาจมองว่าไวรัสนี้เป็นรูปแบบการเอาคืนของธรรมชาติเพื่อหยุดยั้งการเติบโตอย่างไร้ขีดจำกัดก็ได้ เมื่อมีการปิดชายแดนและบังคับใช้มาตรการล็อคดาวน์ การเคลื่อนที่ถูกจำกัดไว้เพื่อเหตุผลที่จำเป็นอย่างแท้จริงเท่านั้น แทนที่จะขยายขอบเขตทางภูมิศาสตร์ของงานวิจัยชิ้นนี้ เราพยายามเฟ้นหาข้อมูลเชิงลึกและมุ่งความสนใจไปที่ ‘ความรู้เชิงประสบการณ์ของร่างกาย’ และมองหาวิธีสร้างสมดุลระหว่างความปรารถนาของมนุษย์และจุดประสงค์ที่จะวัดผลกระทบต่อทั้งมนุษย์และสิ่งอื่น ๆ ที่ไม่ใช่มนุษย์ได้อย่างยั่งยืน แทนที่จะบินข้ามน้ำข้ามทะเลและขยายขอบเขตการศึกษาให้กว้างขึ้น เราเลือกเดินตามสายน้ำและเทือกเขา บนเกาะที่กำลังจมและสุสานหลังบ้าน ไปสู่สวนหน้าบ้านและกรณีการตัดไม้ทำลายป่าที่เกิดขึ้นทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเด็นสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน
‘Of Hunters and Gatherers’ เสนอให้เราผสานหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติ โดยกระตุ้นเร้าผ่านวิธีการสร้างสรรค์ศิลปะของมาริอันโต้และเรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล และเปิดให้ผู้ชมได้ศึกษาในรูปนิทรรศการภายใต้ชื่อ ‘The Hunters’ ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยมระหว่างเดือนมีนาคม–เมษายน ปี 2564 ในขณะเดียวกันก็ศึกษาแนวคิดเรื่อง‘ความรู้เชิงประสบการณ์ของร่างกาย’ อย่างลึกซึ่งยิ่งขึ้นผ่านการจัดสัมมนาออนไลน์ในหัวข้อ The Gatherers ซึ่งจัดร่วมกับ Selasar Sunaryo Art Space และ The Factory Contemporary Arts Centre ซึ่งจะเปิดตัวเว็บไซต์สำหรับโครงการนี้ในชื่อ ‘Of Hunters & Gatherers’ ในเดือนพฤษภาคม ปี 2564 ร่วมกับ ติตา ซารีน่า, สุทธิรัตน์ ศุภปริญญา, พริลลา ทาเนีย, เดอะ ฟอเรส เคอริคูลัม, วุฒ ชลานันต์ (ศิลปิน) อลิซาเบธ ดี อีนานเดียก, อดัม บ็อบเบ็ต, เจเจ ริซาล และ ณภัค เสรีรักษ์ (นักเขียน และนักวิชาการ) ร่วมกับศิลปิน มาริอันโต้และเรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล และภัณฑารักษ์ กิตติมา จารีประสิทธิ์ และ เลอร์ (มิร่า อัสลินนิงเตียส และดิโต้ ยูโวโน) โดยมี โซอี้ บัต และ ลี เวง ชอย เป็นบรรณาธิการ