สุทธิรัตน์ ศุภปริญญา

ผิดหนึ่งกระตุกหลาย

ความอุดมสมบูรณ์ของชีวิตของเรา = ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ

ในยุคที่ยังไม่มีการรุกคืบของการล่าอาณานิคมและการสร้างประเทศชาติ (Nation State) ซึ่งตามด้วยการเปลี่ยนแปลงทางทุนนิยม (capitalistic transformations) นั้น การดำรงชีวิตของมนุษย์ในอุษาคเนย์ยังเต็มไปด้วยการนับถือและขอบคุณคุณูปการของธรรมชาติที่มอบปัจจัย สี่ (อาหาร ที่อยู่อาศัย ยา และเครื่องนุ่มห่ม) ให้ การนับถือผี (Animism) หรือธรรมชาติจึงเป็นวัฒนธรรมความเชื่อที่เป็นรากฐานของพวกเขามาตั้งแต่แรกเริ่ม แม้ว่าธรรมชาติจะควบคุมไม่ได้ เพราะมันแปรเปลี่ยนไปตามฤดูกาลและภูมิประเทศ แต่นั่นก็ทำให้เขาต้องเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับมัน ไม่เช่นนั้นก็เร่ร่อนถิ่นฐานเพื่อหาแหล่งธรรมชาติที่ดีกว่าต่อไป กลุ่มชนที่ได้ตั้งถิ่นฐานเป็นที่แน่นอนแล้วก็ได้คิดค้นวิธีในการดำรงอยู่ ณ แหล่งนั้นให้ได้ยาวนานมั่นคงที่สุด จึงมีการจัดการพื้นที่และทรัพยากร รวมทั้งผลิตทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต การจัดการการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติร่วมกันจึงเป็นปัจจัยสำคัญของสังคมกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลประโยชน์ร่วม ในที่นี้คือร่วมใช้ทรัพยากร ร่วมออกแรง และร่วมอุดมการณ์ในการรักษาธรรมชาตินั้นให้มีความอุดมสมบูรณ์ต่อไป เพื่อที่พวกเขาจะยังคงได้ใช้ผลประโยชน์นี้อย่างไม่อดอยากและไม่หมดสิ้น ภูมิปัญญาเหล่านี้ได้ปรับใช้ต่อเนื่องจากวิถีของมนุษย์ในสังคมก่อนหน้า

An Aneyoshi tsunami warning tablet in December 2013. Archive image during production of the work Do Not Build Your Homes Below This Point, in Honshu, Iwate Prefecture, Miyako, Omoe Aneyoshi area, Northern Japan. December 2013. Photo by Sutthirat Supaparinya.

เมื่ออิทธิพลของทุนนิยมกลายเป็นจุดหมายใหญ่ ความรู้ความเข้าใจต่อวิถีชีวิตแบบเดิมจริงถูกหลงลืมไป แต่เมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งใหญ่ มนุษย์ที่อาศัยอยู่กับธรรมชาติอย่างใกล้ชิดและมีวิถีชีวิตที่ขึ้นอยู่กับธรรมชาตินั้นกลับนำความรู้ที่ได้จากบรรพบุรุษมาช่วยให้พวกเขารอดตายได้ ตัวอย่างเช่น เกิดไฟป่าในออสเตรเลีย ในปี 2562 รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ในที่สุดคนพื้นเมืองได้เข้ามาแก้ปัญหานี้ 1 การสังเกตธรรมชาติของทะเลและรอดชีวิตจากคลื่นยักษ์สึนามิของชาวมอแกน(Moken) แม้พวกเขาอาศัยอยู่เกาะเล็กจิ๋วที่ห่างไกลแห่งหนึ่งในหมู่เกาะสุรินทร์ ประเทศไทย ในปี 2547 2 หินสลักเก่าแก่อายุร้อยกว่าปีที่ตั้งและแจ้งตำแหน่งที่ปลอดภัยของคลื่นยักษ์ตามพื้นที่ใกล้ชายฝั่งทะเลในประเทศญี่ปุ่น ยังคงเป็นสถิติที่แม่นยำเมื่อเกิดคลื่นยักษ์เมื่อปี 2554 34.

 

การจัดการน้ำด้วยระบบเหมืองฝาย (Community Water Management System)

การตั้งถิ่นฐานเมืองโบราณที่ประสบความสำเร็จได้อาศัยความรู้ทางภูมิศาสตร์และการจัดการพื้นที่เป็นปัจจัยสำคัญ ดังตัวอย่างในประวัติศาสตร์ของการตั้งเมืองในภาคเหนือของไทย กล่าวถึงพญามังรายเมื่อตีอาณาจักรหริภุญไชย (พ.ศ. 1824) สมัยพญาญีบา (ยี่บา) ได้แล้วนั้น ก็ตั้งเมืองใหม่ถึงสองครั้ง (เมืองเวียงชะแว่และเวียงกุมกาม) แต่ก็ประสบปัญหาน้ำท่วมทั้งสองครั้ง จึงได้สังเกตว่าตัวเมืองหริภุญไชยที่เป็นรูปหอยสังข์นั้นไม่เคยน้ำท่วมเลย เมื่อทรงตั้งเวียงที่สามคือ เวียงเชียงใหม่ (พ.ศ. 1839) จึงได้นำภูมิปัญญาดั้งเดิมของอาณาจักรหริภุญไชยไปปรับใช้ ทำให้เมืองเชียงใหม่ไม่ถูกน้ำท่วมทั้งยังมีการจัดการพื้นที่และน้ำอย่างเป็นระบบ น้ำในแม่น้ำก็ถูกผันไปใช้ให้เป็นประโยชน์แก่เกษตรกรในพื้นที่ที่ห่างไกลออกไปจากแม่น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ การขยายพระราชอาณาจักรก็ทำให้ระบบดังกล่าวถูกนำไปใช้ทั่วไปในภาคเหนือตอนบนซึ่งตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำโขง-สาละวิน จนถึงปัจจุบัน 5.

พญามังรายได้เอื้ออำนวยการจัดการน้ำด้วยระบบเหมืองฝายไว้อย่างชัดเจนและยุติธรรมโดยผ่านกฎหมายที่ชื่อว่า
“มังรายศาสตร์” ในที่นี้ฉันจะยกมาแต่เพียงบทที่แสดงถึงความสำคัญของเหมืองฝาย ซึ่งหากผู้ใดทำลายมีโทษถึงชีวิต กล่าวคือ

“มาตรา ๑ ทำนาติดกัน ผู้หนึ่งชวนไปทดน้ำเข้านา มันไม่ยอมไปช่วย แต่คอยขโมยน้ำจากท่าน หรือแอบขุดหนองน้ำท่าน เจ้านาเจ้าหนอง ได้ฆ่ามันตายก็เป็นอันสิ้นสุดไป อย่าว่าอะไรแก่เจ้านา ผีไม่ฆ่ามัน ก็ให้ปรับไหม ๑,๐๐๐,๐๐๐ เบี้ย” และ “ผู้ใดถมเหมือง ทำลายฝาย ให้ฆ่ามันทิ้งเสีย เพราะมันทำลายอู่ข้าวอู่น้ำของบ้านเมือง” 6

กฎการปกครองเหมืองฝายนี้ช่วยให้เกิดระเบียบและป้องกันความขัดแย้งของผู้ใช้น้ำร่วมกันซึ่งได้ถือปฏิบัติมาผ่านสัญญาเหมืองฝายที่ศักดิ์สิทธิ์ในหมู่เกษตรกรในลุ่มน้ำเดียวกันเนื่องจากเป็นการปกครองแบบนอน ตามความสมัครใจ ใครช่วยเท่าไรได้สัดส่วนน้ำเท่านั้น วัตถุประสงค์ของเหมืองฝายคือการกั้นน้ำสายใหญ่แล้วขุดลำเหมืองขนาดเล็กกระจายและแบ่งปันน้ำออกไปตามชุมชนที่ทำการเกษตรและอุปโภคบริโภคของชุมชนในเครือข่าย ที่ใดมีเหมืองฝาย ฤดูแล้งน้ำจะชะลอความแล้ง และฤดูฝนน้ำจะชะลอการเกิดน้ำท่วม เพราะสามารถจัดการน้ำได้อย่างยืดหยุ่น ต้นทุนต่ำ และไม่ทำให้น้ำไหลแรงจนทำลายตลิ่ง
ปลายปี 2554 และต้นปี 2555 ฉันได้สำรวจพื้นที่ทำนบ ฝาย และเขื่อนที่กั้นแม่น้ำปิงในผลงาน “My Grandpa’s Route has been Forever Blocked”7 นั้น ได้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทย ท่วมเข้าไปจนถึงเมืองหลวง และมีกรณีที่ชาวบ้านที่ดูแลฝายโบราณในเมืองเชียงใหม่ได้ออกมาปกป้องการทำลายฝายจากรัฐบาลซึ่งกำลังก่อสร้างประตูน้ำขนาดใหญ่ทางด้านใต้ของเมืองเชียงใหม่ โดยอ้างว่าฝายทำให้เกิดน้ำท่วม และเนื่องจากวางแผนจะให้เรือท่องเที่ยวสามารถขับชมทิวทัศน์และเดินทางระหว่างเมืองเชียงใหม่และเวียงกุมกามซึ่งอยู่ทิศใต้ได้ ขณะนั้นฉันได้แต่เพียงรับทราบแต่มิได้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง แต่ด้วยมีความมุ่งมั่นที่จะบันทึกภาพสิ่งก่อสร้างใดก็ตามที่มาขวางกั้นแม่น้ำและทำให้การเดินทางทางน้ำแบบในยุคของคุณตาเกิดเป็นไปไม่ได้แล้ว แน่นอนว่าสิ่งขวางกั้นด่านสุดท้ายที่ได้แสดงในผลงานชิ้นนี้คืออุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ที่สุด การดำเนินงานในตอนนั้นฉันและทีมงานจึงได้เป็นเสมือนพยานต่อฝายโบราณที่สร้างจากก้อนหินที่หลงเหลืออยู่ทั้งสาม คือ ฝายพญาคำ ฝายหนองผึ้ง และฝายท่าวังตาล เพราะวันนี้ฝายท่าวังตาล ถูกรื้อและถูกแทนที่ด้วยประตูน้ำสมัยใหม่ที่สร้างโดยรัฐ ฝายหนองผึ้งถูกห้ามซ่อมแซมอีก คงเหลือแต่ฝายพญาคำเท่านั้นที่ยังใช้การได้อยู่และเป็นอนุสรณ์ให้รุ่นต่อไปได้ชมและศึกษา 8 แต่ถึงอย่างนั้นภาคเหนือของประเทศไทยก็ยังมีชลประทานราษฎร์หรือเหมืองฝาย ของชาวบ้านมากที่สุดในประเทศไทย 9
พื้นที่หลายแห่งกรมชลประทานได้สร้างคอนกรีตกั้นน้ำแทนฝาย จนถึงสร้าง ประตูน้ำ และเขื่อนขนาดใหญ่เพื่อประโยชน์ในการจัดการน้ำ ป้องกันน้ำท่วม และผลิตกระแสไฟฟ้า ข้าพเจ้าจะขอพูดถึงเขื่อนในฐานะที่ช่วยป้องกันน้ำท่วม กักน้ำไว้ใช้ยามแล้งเพื่อการเกษตรก่อน

ฝายท่าวังตาล ฝายหินโบราณในเดือนมกราคม

จริงอยู่ว่าในยุคสมัยของพ่อแม่ปู่ย่าตายายผู้อาศัยอยู่ริมแม่น้ำปิงนั้นได้รับภัยพิบัติจากน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้ง บ้านจึงต้องออกแบบให้ยกขึ้นสูงและมีเรือไว้ใช้เวลาต้องเดินทาง แต่เขื่อนที่ได้สร้างไว้กู้ภัยน้ำท่วมนั้น บัดนี้นอกจากทำให้แม่น้ำมีน้ำน้อยลงอย่างมากมายแล้ว ความเท่าเทียมในการได้รับน้ำไปที่ทำการเกษตรกลับลดลง บางพื้นที่ได้รับน้ำอย่างอุดมสมบูรณ์และบางพื้นที่ชาวนากลับต้องเลิกอาชีพหรือย้ายไปทำนาที่แหล่งอื่น เมื่อเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ในประเทศไทยปลายปี 2554-2555 นั้น เขื่อนที่ข้าพเจ้าไปสำรวจและถ่ายทำผลงานดังที่กล่าวข้างต้นนั้นกักน้ำไว้จนเต็มที่ตั้งแต่ฤดูแล้ง จนเมื่อปลายฤดูฝนน้ำจึงล้นเขื่อน

น้ำที่เกือบไหลทะลักออกจากเขื่อนภูมิพล เดือน ธันวาคม พ.ศ.2554, ภาพนิ่งจาก My Grandpa’s Route Has Been Forever Blocked, ภาพเคลื่อนไหวจอคู่, พ.ศ.2555 ©สุทธิรัตน์ ศุภปริญญา

นักท่องเที่ยวที่ท่องเรือบนทะเลสาปที่กักน้ำไว้เหนือเขื่อนและคนขับเรือก็ต่างจินตนาการไปว่าถ้าเขื่อนพังเพราะจำนวนมหาสารของน้ำจะทำอย่างไร หลังจากการสำรวจครั้งนั้นอีกไม่กี่อาทิตย์เขื่อนก็ไม่อาจเก็บน้ำทั้งหมดไว้ได้และได้ปล่อยมันทิ้ง มีผลทำให้ภาวะน้ำท่วมในภาคกลางที่รุนแรงอยู่แล้วถึงขั้นวิกฤตท่วมทะลักกรุงเทพฯเมืองหลวงของไทย แม่น้ำทาที่อยู่ในหมู่บ้านของฉันปรกติที่มีเขื่อนกั้นตรงต้นน้ำจนทำให้น้ำแห้งตลอดนั้น กลับปล่อยน้ำออกในภาวะที่น้ำหลากจนทำให้หมู่บ้านโดยรอบโดนน้ำท่วมทั้งหมด ไม่ต่างจากปัจจุบัน เดือนมกราคม พ.ศ. 2564 เขื่อนจิ่งหงให้ประเทศจีนลดการปล่อยน้ำ เพื่อซ่อมเขื่อนมีผลทำให้ชีวิตคนที่ต้องขึ้นอยู่กับฤดูกาลของน้ำต้องเปลี่ยนไปเนื่องจากน้ำลดลงถึงเกือบหนึ่งเมตร 10 ในขณะที่ในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้เป็นฤดูมรสุม เขื่อนบางลางในจังหวัดยะลากลับปล่อยน้ำทิ้ง เพื่อป้องกันโครงสร้างของเขื่อนมีผลทำให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนเกิดน้ำท่วมใหญ่ในจังหวัดยะลาและปัตตานี 11 จะเห็นได้ว่าเมื่อการควบคุมน้ำมาจากส่วนกลางที่ไม่ยึดโยงกับผู้ที่ได้ผลกระทบแล้วหายนะก็ได้เกิดขึ้นได้อย่างฉับพลัน ไม่มีความยืดหยุ่น เมื่อเขื่อนกลายเป็นตัวทำลายระบบนิเวศของแม่น้ำเสียเอง มันกลับทำลายตัวเองไม่ได้ แต่กลับต้องเอาราคาความเสียหายของผู้คนและธรรมชาติมาเป็นตัวประกัน โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ และการผลิต กักตุน และเสาะหาทรัพยากรจากที่ห่างไกล
เมื่อการผลิตและกักตุนทรัพยากรในประเทศไม่พอเพียงไปถึงอนาคต จึงต้องเสาะหาจากดินแดนใหม่ ฉันมีโอกาสสัมภาษณ์วิศวกรท่านหนึ่งผู้ควบคุมการผลิตกระแสไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง ในเดือน ธันวาคม พ.ศ.2555 เขาเล่าว่า เหมืองลิกไนต์ที่นี่จะหมดภายใน 15 ปีที่จะถึงนี้ บริษัทได้เสาะหาที่สร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่แล้ว และพร้อมจะเปิดทำการเร็ว ๆ นี้ในประเทศลาว

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โรงไฟฟ้าและเหมืองถ่านหินแม่เมาะ ในเดือนธันวาคม พ.ศ.2555, ภาพนิ่งจาก When Need Moves the Earth, ภาพเคลื่อนไหว 3 จอ, พ.ศ.2557 ©สุทธิรัตน์ ศุภปริญญา
วิศวกรทำงานในห้องควมคุม ณ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เขื่อนศรีนครินทร์ ในเดือนธันวาคม พ.ศ.2555, ภาพนิ่งจาก When Need Moves the Earth, ภาพเคลื่อนไหว 3 จอ, พ.ศ.2557 ©สุทธิรัตน์ ศุภปริญญา

บทสัมภาษณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อฉันได้ทำวิจัยและผลิตผลงานที่ชื่อว่า “When Need Moves the Earth” ซึ่งเป็นผลงานที่นำผู้ชมไปเยี่ยมชมการผลิตกระแสไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่สองแห่งที่สร้างอยู่บนรอยเลื่อนที่มีพลัง (active fault lines) คือโรงไฟฟ้าพลังน้ำและโรงไฟฟ้าจากถ่านหิน แต่คุณทราบไหมว่าฉันตั้งชื่อผลงานครั้งแรกว่า “When Greed Moves the Earth” ต่างหาก ฉันคิดว่าชื่อแรกนี้มันแทนใจความที่ฉันอยากจะบอกผู้ชมมากที่สุด แต่มันอาจจะตรงไปตรงมามากไปหน่อย ฉันเลยลดโทนของชื่อลงมา ที่ฉันอยากให้ความหมายของผลงานว่าผลกระทบทางธรรมชาติของการเปลี่ยนรูปของพื้นดินขนาดใหญ่นั้นมันมาจากความละโมบนั้น เป็นเพราะการสัมภาษณ์วิศวกรในโรงไฟฟ้าทั้งสองแห่ง ที่ต่างยอมรับว่าผู้บริโภคไฟฟ้าจำนวนมากไม่ใช่เป็นการใช้ตามบ้านเรือน แต่เป็นระบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อย่างโรงงาน ห้างสรรพสินค้าต่างหากล่ะ 12 การที่เราต้องผลิตสินค้าให้มากที่สุด สร้างเครื่องอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าให้มากที่สุด ตามด้วยการเสาะหา แย่งชิงทรัพยากรมากักเก็บไว้ให้มากที่สุด กลับทำให้เกิดความยืดหยุ่นทางธรรมชาติน้อยที่สุด เพราะเราไปกังวลกับการปกป้องโครงสร้างอันใหญ่โตนั้นให้อยู่ทนนานที่สุด เปรียบเหมือนกับปล่อยน้ำในเขื่อนให้ท่วมเพื่อรักษาโครงสร้างเขื่อนที่สามจังหวัดภาคใต้ในอาทิตย์ที่ผ่านมา ความคิดแบบนี้ถูกใช้ในการปกป้องเขื่อนทั้งด้านกายภาพและความชอบธรรมในการมีอยู่ของมัน

ฉันขอยกตัวอย่างอีกผลงานหนึ่งที่ฉันรีบไปบันทึกชีวิตของนักหาปลาที่สี่พันดอน ในแม่น้ำโขง แขวงจำปาสัก ภาคใต้ของประเทศลาว ก่อนที่เขื่อนดอนสะโฮงจะสร้างเสร็จ ผลงานชื่อ “A Separation Of Sand and Islands” 13

เขื่อนดอนสะโฮงในปี 2560, ภาพนิ่งจาก A Separation of Sand and Islands, ภาพเคลื่อนไหวจอคู่, พ.ศ.2561 ©สุทธิรัตน์ ศุภปริญญา

เขื่อนซึ่งได้รับการรักษาชื่อเสียงของตนเองโดยกฎหมายที่ห้ามคนท้องถิ่นซ่อมแซม จนถึงเลิกจับปลาด้วยเครื่องมือดักจับปลาที่ชื่อว่า “หลี่” ซึ่งเป็นวิถีชีวิตเฉพาะถิ่นในสี่พันดอน เพราะการที่คนยังหาปลาแบบเดิมอยู่จะทำให้สามารถวัดสถิติจำนวนของปลาที่จับได้ แน่นอนเหลือเกินว่าตำแหน่งที่เขื่อนสร้างคือเส้นทางเดินทางของปลาเพื่อไปวางไข่ระหว่างโตนเลสาบ (Tonlé Sap) ในประเทศกัมพูชา และนั่นจะเป็นผลกระทบอย่างเห็นได้ชัดจากจำนวนปลาที่ลดลง 14 15 ทั้งที่กำลังไฟฟ้าที่ผลิตได้นั้น ไม่ได้มากมายคุ้มค่ากับการเสียสภาพแวดล้อมอันอุดมสมบูรณ์นี้ไปได้เลย แต่เพราะเมืองใหม่กำลังจะเกิดขึ้น คนจีนจำนวนมากกำลังจะเข้ามาทำธุรกิจที่นี่ และไฟฟ้าเป็นสิ่งจำเป็นในการพัฒนา เหมือนกับอีกหลายเขื่อน เช่น บนแม่น้ำโขงและแม่น้ำมูล ผู้ที่ได้ผลกระทบต่างมีคำถามว่าในเมื่อเขื่อนบางเขื่อนมิได้คุ้มค่ากับการได้พลังงานและสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่โดยรอบ ทำไมเขาจึงสร้างล่ะ ฉันก็เกรงว่าเมื่อหาเหตุผลจนถึงที่สุดแล้ว มันก็คงฟังไม่ขึ้นสำหรับคนส่วนใหญ่ เพราะมันรองรับคนแค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอยู่นั่นเอง

โครงสร้างกับดักปลาหรือหลี่ในปี 2560, ภาพนิ่งจาก A Separation of Sand and Islands, ภาพเครื่องไหวจอคู่, พ.ศ.2561 ©Sutthirat Supaparinya

 

สงครามแย่งชิงน้ำ Water War

เมื่อความต้องการน้ำสูงขึ้นเกินกว่าความต้องการเพียงเพื่อใช้เองในชีวิตประจำวัน การผลิตจำนวนมากเพื่อการค้าและการกักตุนทรัพยากรเพื่อความมั่งคั่งอย่างไม่สิ้นสุดของผู้ที่สามารถสาวได้สาวเอา การเสาะหาแหล่งธรรมชาติที่ห่างไกลมากขึ้นจึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะเมื่อแหล่งนั้นไม่ใช่บ้านของผู้แสวงหา ผลกระทบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าวก็ยิ่งไม่ใช่ธุระของเขาที่ต้องเอาใจใส่มากนัก เมื่อสัญญาณจากธรรมชาติไม่เป็นภาษาที่พวกเขาและเราเข้าใจอย่างถ่องแท้อีกต่อไป ความไม่รู้ของพวกเรากำลังจะนำไปสู่อะไร

ลุ่มน้ำหลายแห่งจะเคยเป็นแหล่งอาหารที่ชุ่มน้ำแต่การบุกรุกทำลายแหล่งน้ำและยึดไว้ใช้แต่เพียงประโยชน์ไม่กี่อย่าง ไม่กี่กลุ่มคน กลับสร้างความขัดแย้งที่มีความรุนแรงมากขึ้นจนกลายเป็นสงครามการแย่งชิงน้ำ
ความขัดแย้งนี้จะไม่ใช่แค่การแย่งน้ำ แต่ทุกสิ่งทุกอย่างกำลังจะค่อย ๆ พังทลายลงไปด้วยอย่างเป็นโดมิโน่ เมื่อลุ่มน้ำลดบทบาทการเป็นแหล่งอาหารชั้นดี ราคาถูก ดินที่ชุ่มน้ำที่กระจายอยู่รอบแม่น้ำลำคลองเริ่มแห้งลง การเกษตรก็จะเริ่มมีปัญหา ส่งผลให้คุณภาพของอาหารและยารักษาโรคลดลง อากาศมีความชื้นสัมพัทธ์น้อยลง ต้นไม้แห้งกรอบ เกิดไฟป่าได้ง่าย อากาศเสียมีฝุ่นควัน วงจรระบบนิเวศที่อสมดุลนี้เกี่ยวพันกันไปหมด และจะลุกลามกว้างออกไปจนเราไม่สามารถแก้ไขแค่เรื่องใดเรื่องหนึ่งได้อีกต่อไป มันเป็นสงครามของมนุษย์ที่เป็นผู้ก่อ และเราคิดว่าเราชนะธรรมชาติมาโดยตลอด ชนะจนเลยขีดความสมดุลจนกลับเป็นการทำลายตนเอง
เป็นไปได้ไหมว่าเราจะกลับมาฟื้นฟูแม่น้ำ ด้วยรูปแบบการอยู่ร่วมกันที่ยึดโยงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ไม่ว่าจะยากดีมีจนหรือมีอำนาจมากน้อย โดยมีจุดหมายของ “ส่วนรวม” คือความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงทางอาหาร อย่างเช่น ที่สปิริตของสัญญาเหมืองฝายเคยมี เป็นไปได้ไหมที่การมีส่วนร่วมแบบประชาธิปไตยของผู้อาศัยในลุ่มน้ำแต่ละสายจะถูกพิจารณาให้กลับมาเป็นกฎใหญ่ของสังคมอีกครั้ง เพื่อเราจะได้ช่วยกันระงับระเบิดเวลา ก่อนที่มันจะทำลายตัวเราทั้งหมดเสียเอง!

 

20 มกราคม พ.ศ.2564

 

สุทธิรัตน์ ศุภปริญญา (Sutthirat Supaparinya) ใช้สื่ออันหลากหลาย เพื่อตั้งคำถามและตีความถึงข้อมูลสาธารณะโดยมุ่งเน้นไปที่ผลกระทบจากการกระทำของมนุษย์ที่มีต่อภูมิทัศน์ รวมถึงเผยให้เห็นหรือถามเกี่ยวกับโครงสร้างที่สร้างผลกระทบต่อชาติของเธอ/เรา ในฐานะประชากรโลก สุทธิรัตน์ได้แสดงงานในนิทรรศการ สัตว์ร้าย พระเจ้า และเส้นสายลายลาก, พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม, เชียงใหม่ (พ.ศ.2564); Noodles and the Wild Things, พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม, เชียงใหม่ (พ.ศ.2563); Jogja Biennale Equator #5, ยอคยาการ์ตา (พ.ศ.2562); 12th Gwangju Biennale, กวางจู (พ.ศ.2561) และ 38th EVA International – Ireland Biennale (พ.ศ.2561) เป็นต้น