การกินอาหารเป็นกิจกรรมที่บางครั้งเราอาจจะมองข้ามและบ่อยครั้งละเลยถึงสาเหตุและผลกระทบที่ตามมา อย่างเช่น ส่วนประกอบของอาหารต่าง ๆ ทั้งปริมาณและการเข้าถึงอาหาร ในช่วงเวลาสมัยใหม่ที่ทำให้ผู้คนพึงพอใจและไม่ตั้งคำถามถึงวัตถุประสงค์หรือเหตุผลของการกินอาหารอีกต่อไป คำถามนี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานของฉันที่ชื่อว่า “EAT!” ในนิทรรศการ Beyond Panopticon ที่ BEC (Bandung Electronic Center ในปี 2546 เช่นเดียวกับสัตว์อื่น ๆ มนุษย์ต้องการอาหารเพิ่มเติมพลังงานเพื่อใช้ในการดำรงชีวิต ทำกิจกรรมต่าง ๆ และสืบเผ่าพันธุ์ ความแตกต่างของมนุษย์กับสัตว์อื่น ๆ อยู่ที่ความพยายามในการหาอาหาร ในกรณีของมนุษย์ พัฒนาการทางวัฒนธรรมได้นำมาสู่การใช้เครื่องมือและวิธีการ ในช่วงเวลานับแสน ๆ ปี ตั้งแต่สังคมล่าสัตว์-เก็บของป่า การทำการเกษตรแบบเรียบง่าย สู่เกษตรกรรมสมัยใหม่และสังคมอุตสาหกรรม สังคมรูปแบบต่าง ๆ นี้ยังคงปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน ในสังคมสมัยใหม่ วิธีการหาอาหารไม่ได้เรียบง่ายเหมือนกับชุมชนดั้งเดิม เช่น การล่าสัตว์ เก็บของป่า การทำฟาร์ม และการเลี้ยงสัตว์ แต่เราต้องหาเงินเพื่อมาซื้อผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป และสิ่งที่ตามมา มนุษย์ไม่ได้เพียงกินอาหารเพื่อเติมเต็มความต้องการของร่างกาย แต่การกินกลายมาเป็นกิจกรรมทางสังคม เช่น การเฉลิมฉลองต่าง ๆ ที่ต้องการอาหารนานาชนิด ทั้งต่างรูปทรง ต่างสี ต่างรสชาติ หรือการที่เด็กกลุ่มหนึ่งเดินไปยังร้านขายค้าเพื่อซื้อขนมกินระหว่างที่เล่นกับเพื่อน
จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อมนุษย์ไม่ต้องการอาหาร? เป็นคำถามที่ฉันสนใจผ่านการทำโครงการศิลปะ “De Chloroman” ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรม Hier / Heden ที่กรุงเฮก เมื่อปี 2555 โดยการสร้างมนุษย์ใบไม้สีเขียวที่ทำด้วยเครื่องยนต์ เพื่อแก้ปัญหาความต้องการอาหารของมนุษย์ในอนาคต ใบไม้นี้เองที่ทำให้มนุษย์ไม่ต้องการอาหารเพื่อเติมเต็มความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน เช่นเดียวกันกับพืชที่สังเคราะห์แสงด้วยการดูดซึมน้ำและแร่ธาตุต่าง ๆ และอาศัยแสงจากดวงอาทิตย์ในการสร้างพลังงาน ฉันสงสัยว่า หากมนุษย์สูญเสียกิจกรรมการกินอาหารในชีวิตประจำวันแล้ว กิจกรรมทางสังคมของมนุษย์จะเปลี่ยนไปอย่างไร ฉันจึงได้ทำการทดลองเป็นเวลาหนึ่งเดือนในฤดูร้อน โดยที่ในหนึ่งเดือนนั้นฉันไม่ได้กินอาหารตั้งแต่ตีสี่จนถึงสามทุ่ม นอกจากนี้ยังไปเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่งานเลี้ยงอำลาพนักงาน การประชุม ไปเที่ยวทะเลกับเพื่อน และร่วมกินอาหารเย็นในเวลาหกโมงเย็น กิจกรรมเหล่านี้ต่างเกี่ยวพันกับอาหารและเครื่องดื่ม ประสบการณ์การมีส่วนร่วมนี้อยู่ในผลงานที่ชื่อว่า “Ik Eet Niet” (ภาพที่ 1) ซึ่งเป็นงานศิลปะจัดวางด้วยกระดาษที่ทำเป็นภาพเคลื่อนไหวแบบสต๊อปโมชั่น (stop motion video) จินตนาการถึงการที่ De Chloroman ที่ได้รับเชิญให้ไปร่วมงานงานเลี้ยงอาหารค่

ในช่วงเวลาที่มนุษย์ยังคงอาศัยเป็นกลุ่มเล็ก ๆ การหาอาหารเป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐาน อาจกล่าวได้ว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศ บางครั้งก็เป็นผู้ล่าที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหารเมื่อประสบความสำเร็จในการล่ากวาง หรือบางครั้งก็กลายเป็นอาหารให้แก่เสือหรือจระเข้เสียเอง หลังจากที่ระบบฟาร์มเริ่มก่อตัวขึ้นมาพร้อม ๆ กับการทำการเกษตรส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของมนุษย์ ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของพื้นผิวตามธรรมชาติและป่าไม้ แต่การเปลี่ยนแปลงนี้ยังส่งผลกระทบต่อธรรมชาติไม่มากนัก เพราะพื้นที่ที่ถูกทิ้งร้างไว้จะกลายเป็นป่าขั้นที่สองและจะกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง หลังจากนั้นมีการกลับมาทำการเกษตรในพื้นที่นั้นอีกเป็นวงจร จากประสบการณ์การรวมกลุ่มของมนุษย์ พวกเขาเริ่มผลิตความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตอันเกี่ยวพันกับการทำเกษตรกรรมและส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น ในช่วงขณะหนึ่งที่มนุษย์กลุ่มหนึ่งได้ตั้งถิ่นฐาน ทำสวน และทุ่งนา ในป่าบนพื้นที่สูง สังคมลักษณะนี้เองที่ตำนานหรือปรัมปราแห่ง Nyi Pohaci Sanghyang Asri ได้เกิดขึ้นมา
ในนิทานปรัมปรานี้ พระเจ้าตัดสินใจฆ่า Nyi Pohaci เนื่องจากความสวยของเธอที่ทำให้ Sang Batara Guru ซึ่งเป็นพ่อบุญธรรมตกหลุมรักเธอ ความตายของเธอทำให้พระเจ้ารู้สึกหวาดกลัวและรู้สึกผิดจึงได้ฝังร่างของเธอบนโลกที่ซึ่งห่างไกลจากสวรรค์ ระหว่างที่ร่างของเธอถูกเผา ความบริสุทธิ์และความดีงามที่โชติช่วงขึ้นมา ณ ที่แห่งนั้นที่ร่างกายของเธอได้เป็นพื้นที่ให้พืชพันธุ์ต่าง ๆ ได้เติบโตขึ้นและให้ประโยชน์แก่มนุษย์ หัวของเธอเป็นที่เติบโตของต้นมะพร้าว บริเวณจมูก ปาก และหูเติบโตเป็นสมุนไพรและผักนานาชนิด ผมของเธอมีส่วนให้หญ้าและบรรดาดอกไม้เติบโต บริเวณหน้าอกเป็นที่อาศัยของไม้ผลนานา ส่วนแขนและมือของเธอเป็นที่เติบโตของไม้สักและไม้เนื้อแข็ง บริเวณอวัยวะเพศเป็นที่เติบโตของต้นตาล สะโพกเป็นที่เติบโตของไผ่หลากหลายประเภท เท้าเป็นที่เติบโตของเหล่าพืชหัว และสุดท้ายบริเวณสะดือเป็นที่เติบโตข้าว นอกจากนี้ ในบางตำนานเล่าว่าตาข้างซ้ายของเธอเป็นที่เติบโตของของข้าวขาว ส่วนตาข้างขวาเป็นที่เติบโตของข้าวแดง
จากนิทานปรัมปรานี้ เป็นไปได้ว่าบรรพบุรุษต้องการแสดงให้เห็นถึงวิธีการจัดการธรรมชาติอย่างยั่งยืนผ่านตำแหน่งแห่งที่ของการพืชพันธุ์ที่เติบโตอยู่บนร่างของ Nyi Pohaci โดยอาจตีความได้ว่าบริเวณส่วนหัวนั้นหมายถึงพืชพันธุ์ที่อยู่ในดินแดนที่ราบสูงและส่วนบริเวณเท้าในฐานะที่เป็นที่ราบต่ำ (ภาพที่ 2, ภาพร่าง) บริเวณการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์นั้นปรากฏความหลากหลายของพันธุ์พืชที่ตอบสนองกับความต้องการของชุมชน ตั้งแต่แหล่งอาหาร วัสดุสำหรับเครื่องมือเครื่องใช้ในครัว อุปกรณ์สำหรับทำการเกษตรและการก่อสร้าง ไปจนถึงยารักษาโรค

ยิ่งอารยธรรมมนุษย์ก้าวหน้ามากขึ้นเท่าไร ระยะห่างของมนุษย์กับธรรมชาติก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นด้วย กล่าวได้ว่าธรรมชาติกลายเป็นวัตถุชนิดหนึ่งและเป็นแหล่งที่มาของวัตถุดิบที่มนุษย์ใช้เพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเองในการสร้างสังคมในอุดมคติ สังคมดั้งเดิมมีแนวโน้มที่มองว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ การล่าและการเพาะปลูกสิ่งต่าง ๆ นั้นเป็นไปตามฤดูกาล ในขณะที่สังคมสมัยใหม่กลับเป็นสังคมที่มีความต้องการในการเอาชนะธรรมชาติ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีส่วนช่วยให้เราสามารถปลูกพืชผัก ผลไม้ และดอกไม้ได้ตลอดปี โดยไม่ต้องสนใจฤดูกาล ขนาดของการทำเกษตรกรรมก็ยิ่งใหญ่มากขึ้นทวีคูณ ในทางตรงข้ามกัน ชนิดของพันธุ์พืชที่ปลูกกลับมีจำนวนน้อยลงเรื่อย ๆ การผสมพันธุ์พืชข้ามสายพันธุ์ด้วยวิธีการดัดแปลงพันธุกรรมก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ของมนุษย์ฝ่ายเดียว
ในผลงาน “Democratization of Carbohydrates” (ภาพที่ 3) เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานของกลุ่มศิลปินหญิงชาวอินโดนีเซีย ในนิทรรศการ Into The Future ซึ่งจัดขึ้นเมื่อปี 2562 เราจะกินอะไรกันในวันพรุ่งนี้ ? เป็นคำถามที่เราถามผู้ชมในงานและให้ผู้ชมตอบคำถามด้วยการสอดใบมีดที่ทำจากไม้เข้าไปในกระสอบที่แขวนบนกำแพง บนกระสอบมีการเขียนชื่อแหล่งที่มาของคาร์โบไฮเดรตประเภทต่าง ๆ ด้วยภาษาลาติน เช่น oryza sativa [ข้าว], ipomoea batatas [มันเทศ], manihot utilisima [มันสำปะหลัง], shorgum [ข้าวฟ่าง], canna discolor [แป้งพุทธรักษา] กำแพงฝั่งตรงข้ามกันแสดงภาพของพืชพันธุ์ชนิดต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่บนกระสอบ ซึ่งเขียนด้วยชอล์กบนกำแพงสีดำ ในบางวันจะมีการนับจำนวนไม้ที่อยู่ในกระสอบ ถ้ามีกระสอบที่ว่างเปล่า ไม่มีผู้ชมโหวต ก็จะทำการลบภาพของพืชชนิดนั้น ๆ บนกำแพงอีกฝั่ง ในวันถัดมา กระสอบก็จะถูกม้วนขึ้นไปไม่สามารถเลือกได้อีก โดยจะมีการทำเช่นนี้ต่อไปจนจบนิทรรศการ

แม้ว่าจะมีพืชหลากหลายชนิดบนผืนโลกที่ให้คาร์โบไฮเดรต แต่มีพืชเพียงสามถึงห้าชนิดที่เป็นอาหารหลักให้แก่ประชากรในอินโดนีเซียและรวมถึงโลกใบนี้ด้วย ทำไมพืชพันธุ์ดั้งเดิมของบรรพบุรุษของเรา เช่น มันหวาน, มันม่วง , พืชหัว , หัวบุก, เผือก, และสาเก กลายเป็นพืชที่ไม่เป็นที่รู้จักในผู้คนยุคปัจจุบัน ทั้ง ๆ ที่เป็นพืชที่คนในรุ่นก่อนหน้านี้ต่างปลูกไว้ในเมืองก็ตาม แม้ว่าพืชเหล่านี้จะเป็นพืชที่สามารถปลูกได้โดยง่ายและไม่ต้องการการดูแลมากนัก ทำไมผู้คนถึงนิยมบริโภคข้าวซึ่งต้องการการดูแลเป็นพิเศษระหว่างที่ปลูก หรือแม้กระทั่งข้าวสาลีหรือข้าวโอ๊ตที่ไม่สามารถปลูกในประเทศนี้ได้จากเหตุผลด้านสภาพภูมิอากาศและเงื่อนไขอื่น ๆ เมื่อเราไม่รู้จักแหล่งที่มาของคาร์โบไฮเดรตอย่างหลากหลาย ก็น่ากลัวว่าความหลากหลายทางชีวภาพจะค่อย ๆ สูญสลายไป ถ้าไม่มีความพยายามในการอนุรักษ์หรือทำให้เป็นที่รู้จักสำหรับคนในรุ่นต่อไป การที่เราให้เลือกว่าแหล่งที่มาของคาร์โบไฮเดรตคืออะไร สิ่งที่ผู้ชมใช้เป็นเกณฑ์ในการเลือก อาจจะเป็นเรื่องของสุขภาพ ปัจจัยทางเศรษฐกิจ วิถีชีวิต การเข้าถึง และอื่น ๆ
ถ้าเปรียบเทียบกับนิทานปรัมปราเรื่องร่างกายของ Nyi Pohaci ภายใต้เงื่อนไขของปัจจุบัน สามารถสะท้อนให้เห็นว่าข้าวได้ถูกพัฒนาแและกลายเป็นอาหารหลักชนิดเดียว หรือกล่าวได้ว่าพื้นที่บริเวณสะดือได้ถูกขยายกว้างขึ้นในขณะที่ร่างกายส่วนอื่น ๆ ค่อย ๆ ถูกทำให้หายไป
นับตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปี 2559 ฉันเริ่มใช้ชีวิตในฐานะที่เป็นผู้ล่าและผู้เก็บเกี่ยว การล่าในที่นี้หมายถึงการล่าประสบการณ์และเก็บเกี่ยววิธีคิดต่าง ๆ ผ่านผลงานศิลปะที่แสดงออกถึงความคิดและความกังวลถึงภาวะที่ธรรมชาติถูกทำลายด้วยการกระทำของมนุษย์ ในนิทรรศการ E ซึ่งจัดที่ Selasar Sunaryo มีผลงานจำนวน 5 ชิ้นที่จัดแสดงทั้งในเชิงวิธีคิดและวัสดุ เพื่อชวนให้ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีสาเหตุมาจากความพยายามในการเติมเต็มความต้องการพื้นฐานด้านอาหารของมนุษย์ วัสดุหลักที่ใช้ในงานชิ้นนี้คือ กล่องอาหารที่ใช้แล้ว (กระดาษแข็ง) ซึ่งฉันยืมมาใช้ชั่วคราวเพื่อสื่อถึงสิ่งที่จะถูกรีไซเคิลในการทำแพคเกจอาหาร งานนี้สื่อถึงห่วงโซ่ของอาหารของเราในทางอ้อม ขณะที่งานอีกชิ้นหนึ่ง ชื่อว่า Daur Energi (ภาพที่ 4) แสดงถึงแผนที่ของเครือข่ายอาหาร เริ่มตั้งแต่สวน กระบวนการ การผลิต การขนส่ง ตลาด ไปจนถึงการเป็นขยะเหลือใช้ที่ถูกทิ้งในทะเล

จากประสบการณ์ที่ฉันได้เก็บเกี่ยวมา ฉันเห็นว่า แม้ว่าการทำฟารม์ในประเทศที่มีสี่ฤดูกาลจะเป็นไปได้อยาก แต่ก็ไม่ได้ทำให้พวกเขาลดความพยายามในการผลิตอาหารที่มีคุณภาพ ซึ่งหมายถึงการไม่ใช้ยาฆ่าแมลงและปุ๋ยเคมี แสดงถึงความปรารถนาในการปลูกพืชผักต่าง ๆ และเป็นรูปแบบหนึ่งของการแสดงความขอบคุณต่อน้ำ อากาศอันอบอุ่น และแสงแดดอันเหลือเฟือ การทำสวนกลายเป็นกิจกรรมที่ทำในเวลาว่างนอกเหนือไปจากการล่า ฉันเริ่มปลูกเครื่องเทศจากยุโรป (เช่น โรสแมรี่ ออริกาโน โหระพาฝรั่ง เซจ และมินท์) รวมถึงสตรอว์เบอร์รี่ในกระถางบนพื้นที่ประมาณ 1.5 x 1.5 ตารางเมตรในมุมหนึ่งของบ้านพ่อแม่ของฉัน อย่างไรก็ตาม ด้วยวิถีชีวิตแบบกึ่งพเนจร การทำสวนแบบยั่งยืนจึงไม่เหมาะกับฉันมากนัก บางสัปดาห์หรือบางเดือนที่กลับจากการ “ล่า” ฉันพบว่าในสวนจะมีวัชพืชจำนวนมากและต้นไม้บางต้นก็ตาย กระนั้นความต้องการในการอยู่กับที่เพื่อทำฟาร์มและปศุสัตว์ก็ยังคงอยู่ ในตอนนั้นฉันตั้งใจแน่วแน่ว่าจะทำให้ได้ในปี 2557

จากเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ กว่าจะเกิดขึ้นจริงก็เลื่อนไปปี 2559 ที่ฉันเริ่มอยู่ประจำที่และเริ่มการทำสวน และตอนนี้กำลังเข้าสู่การทำฟาร์ม (ทำนาข้าว) และเลี้ยงสัตว์ (เป็ดพันธุ์มะนิลาจำนวน 1 คู่) ในช่วงเวลาก่อนหน้านี้ ฉันได้เพียงแสดงออกถึงความคิดและความตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวผ่านผลงานศิลปะที่จัดแสดงในแกลเลอรี กล่าวได้ว่าในช่วงเวลานี้ความคิดถูกนำเสนออย่างเงียบ ๆ (ภาพที่ 5, Leuwigoéng) แม้ว่าเราจะอยู่กับที่ แต่ด้วยความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการทำฟาร์มที่มีอยู่อย่างจำกัด ส่งผลให้การทำสวนในพื้นที่มาก 1,000 เท่าของพื้นที่สวนมีความลำบากในปีแรก ๆ เนื่องจากเราไม่รู้ว่าจะเริ่มจากจุดไหน การผ่านฤดูแล้งแรกได้สอนเราและทำให้เราตระหนักถึงความสำคัญของน้ำ ด้วยขนาดของสวนที่เรามีการรดน้ำผ่านท่อน้ำไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก ดังนั้น เราจึงสร้างที่เก็บน้ำด้วยการทำร่องระบายน้ำไปทั่วบริเวณสวน ด้วยความรู้ที่เรามี เราจึงเริ่มทำสวน เราเห็นว่าป่าฝนเขตร้อนเป็นระบบนิเวศที่สำคัญในละติจูดที่เราอาศัยอยู่ เราจึงพยายามทำสวนของเราให้มีลักษณะเหมือนป่า โดยให้ความสำคัญกับความหลากหลาย เราเก็บและปลูกพืชนานาชนิดในสวน พืชบางชนิดเราได้มาจากการแลกเปลี่ยนกับชาวสวนคนอื่น บ้างก็มาจากพ่อแม่ของเราที่ยังคงอาศัยในหมู่บ้าน เรา “จัด” สวนแบบผสมผสาน พืชบางต้นที่มีความสูง เช่น ฝรั่ง มะละกอ ดาหลา และกล้วย เราปลูกอย่างกระจัดกระจายไปทั่วเพื่อสร้างร่มเงาและป้องกันแสงแดด พืชบางชนิดที่แพร่กิ่งก้านสาขาไปรบกวนพืชอื่นด้วย เช่น เสาวรส ถั่ว มันหวาน และดอกอัญชัน พืชหลักอีกชนิดที่เราปลูกในทั่วบริเวณอีกชนิดคือพืชหัว พืชจำพวกมันเทศและฟักทองเราใช้วิธีปลูกไว้บนหน้าดิน และเรายังปลูกพืชบางชนิดด้วยการหว่านเมล็ดลงไปในหลาย ๆ ที่ เพื่อพืชต่างพันธุ์เติบโตขึ้นแทรกกันและกัน แทนที่จะหว่านพืชป่าลงไปในสวน เราคิดว่าการปลูกต้นไม้สลับกับพืชที่เราสามารถใช้ได้ (กิน) ในช่วงแรกการทำแบบนี้ทำให้พ่อแม่ของเราสับสนอยู่ไม่น้อย แต่ตอนนี้พวกเขาเริ่มที่ยอมรับวิธีการทำสวนของพวกเรา หลังจากสี่ปีผ่านไป สวนของเราก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างจนเราสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตมาเป็นอาหารกลางวันของพวกเราในทุกวัน ก่อนหน้านี้เราคุ้นเคยกับการกินผักจากตลาดแต่ตอนนี้เรากินผักจากสวนของเราแทน
ทั้งหมดนี้สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะมีพืชพันธุ์นานาชนิด ทั้งถั่ว พืชหัว ผลไม้ แม้กระทั่งผักป่าที่เราสามารถเก็บได้ทุกวัน ในฤดูฝนถ้าเราโชคดี เราก็ได้พบกับเห็ดป่า (suung Bulan/suung tanduk) สำหรับผัดหรือปรุงเป็นอาหาร pepes ก่อนอาหารกลางวันทุกวันเรามักจะเดินไปรอบ ๆ สวนเพื่อเก็บวัตถุดิบที่เราจะนำมาทำอาหาร เมนูอาหารของเราจึงขึ้นอยู่กับผลผลิตที่พบในแต่ละครั้ง
เมื่อเข้าสู่ปี 2563 เราเริ่มเรียนรู้การทำนาข้าว โดยเราเริ่มปลูกข้าวตามรูปแบบ เริ่มจากการแช่เมล็ดข้าว และการตากข้าว ซึ่งเป็นสิ่งที่ซับซ้อนกว่าการทำสวน จนไม่น่าแปลกใจว่าพืชชนิดนี้ได้ให้กำเนิดเทคโนโลยีต่าง ๆ (การทำนาขั้นบันได) และรวมถึงได้สร้างตำนานปรัมปราในหลายพื้นที่ เช่น เรื่องของ Nyi Pohaci (ซุนดา), เรื่อง Dewi Sri (ชวาและบาหลี), และ Inari (ญี่ปุ่น) ประสบการณ์การทำนาข้าวเป็นสิ่งใหม่สำหรับเราและค่อนข้างยุ่งยากพอสมควร เราต้องใช้เวลาในทุ่งนา ตลอดทั้งปี นอกเหนือความรู้ที่เราได้จากพ่อแม่ของเราแล้ว เรายังได้สังเกตุการเติบโตของข้าวในทุกขั้นตอนตลอดทั้งสองฤดูกาลที่เราได้มีส่วนร่วม ทั้งฤดูฝนและฤดูแล้ง
ปัจจุบันเรากำลังเรียนรู้วิธีการของเกษตรกรและนักปรัชญาชาวญี่ปุ่น Masanobu Fukuoka (พ.ศ.2456-2551) เกี่ยวกับการทำฟาร์มธรรมชาติหรือการทำสวนเชิงนิเวศ หรือการทำสวนอย่างเป็นธรรมชาติ ในการที่จะทำนาข้าวและสวนของเรา เรารู้สึกว่าวิธีการเป็นวิธีการที่เหมาะสมกับเราและเราก็อยากทำให้สำเร็จ ด้วยวิธีการนี้เราต้องทำความรู้จักระบบนิเวศ (สภาพอากาศ พันธุ์พืช สัตว์ต่าง ๆ และร่วมถึงปฏิสัมพันธ์ของทุกสิ่งนี้) ในพื้นที่ของเรา
สถานที่ที่เราอยู่ตอนนี้มีชื่อว่า “Leuwigoéng” คำว่า “ leuwi” หมายถึง หลุมหรือแอ่งที่อยู่ใต้แม่น้ำ ขณะที่ คำว่า “goéng” หมายถึง การเลี้ยวหรือหมุน เมื่อนำสองคำนี้มารวมกัน เราหวังว่า ณ ที่แห่งนี้จะเป็นพื้นที่ที่เราสามารถเรียนรู้และทำความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับธรรมชาติได้ ดังนิทานปรัมปราที่กล่าวมาข้างต้นว่ายิ่งเราดูแลรักษาร่างของ Nyi Pohaci มากเท่าไรยิ่งมีส่วนให้ธรรมชาติมีความยั่งยืนมากขึ้น
บันดุง, ธันวาคม พ.ศ.2563