เจเจ ริซาล

เรื่องราวจากหลุมศพในสนามหญ้า

ในขณะที่เดือนเมษายน พ.ศ.2557 กำลังจะผ่านพ้นไป วิกฤตการณ์ในจาการ์ตาปรากฏชัดแจ้งผ่านรายงานข่าวสองชิ้นในหนังสือพิมพ์รายวัน ตลอดจนในความเห็นของผู้อ่านที่เขียนจดหมายเข้าไปแลกเปลี่ยนบนหน้าหนังสือพิมพ์

กอมปาส (Kompas) หนังสือพิมพ์รายวันที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย ตีพิมพ์จดหมายฉบับหนึ่งในหนังสือพิมพ์ฉบับวันที่ 28 (เมษายน) โดยมีหัวเรื่องว่า “Pemakaman di Pekarangan” (หลุมศพในสนามหญ้า) ผู้เขียนจดหมายใช้ชื่อว่าปูจี เลสตารี (Puji Lestari) อาศัยอยู่ที่เกิมบางัน (Kembangan) ทางฝั่งตะวันตกของเมืองหลวงอย่างจาการ์ตา เขียนจดหมายร้องทุกข์เกี่ยวกับเพื่อนบ้านของเธอ ครอบครัวชาวเบอตาวี (Betawi) กลุ่มชาติพันธุ์ท้องถิ่นพื้นเมืองของจาการ์ตากลุ่มหนึ่ง ชาวเบอตาวียังคงปฏิบัติตามประเพณีดั้งเดิม ที่กำลังถูกละเลยมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือการฝังศพญาติพี่น้องในสนามในบริเวณบ้าน เพื่อนบ้านของปูจีอาศัยอยู่ในบ้านที่สร้างขึ้นบนผืนดินอันเป็นมรดกตกทอดของครอบครัวมากว่าหลายรุ่นคน และมีหลุมศพเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว ในจดหมายของเธอ ปูจีร้องขอให้รัฐบาลเมืองบังคับใช้ข้อบังคับว่าด้วยการฝังศพ ซึ่งเธอเห็นว่าเพื่อนบ้านได้ละเมิดไปเรียบร้อยแล้ว

หนังสือพิมพ์ยังตีพิมพ์จดหมายแลกเปลี่ยนจากอิมาน ฟิรดาวส์ (Iman Firdaus)1 คนงานที่เกิดในบันดุงซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ในจาการ์ตา จดหมายฉบับนี้คล้ายจะเป็นเสียงสะท้อนสภาวะอารมณ์ที่คล้ายกับจดหมายของปูจีอยู่ไม่มากก็น้อย ทว่าถูกเขียนขึ้นในภาษาและท่วงทำนองที่เกรี้ยวกราดรุนแรงกว่า เขาเห็นว่า การฝังศพญาติพี่น้องบนที่ดินซึ่งรายล้อมบ้านของครอบครัวนั้นเป็นประเพณีงี่เง่า เขายังเทียบเคียงกับประสบการณ์ส่วนตัวในสมัยเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยบีนานูซันตารา (Bina Nusantara University) และพักอาศัยในห้องเช่าที่เกอมังฆีซัน (Kemanggisan) ในจาการ์ตาฝั่งตะวันตกพื้นที่ซึ่งชาวเบอตาวีอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่ใช่ว่านั่นจะเป็นการพบพานกับประเพณีดังกล่าวเป็นครั้งแรกของเขา เนื่องจากฟิรดาวส์ก็เคยพบกับประเพณีนี้มาแล้วเมื่ออาศัยอยู่ในเล็นเต็งอากุง (Lenteng Agung) ทางตอนใต้ของจาการ์ตา ซึ่งจากประสบการณ์ของเขาแล้ว เขาเน้นย้ำว่า “รัฐบาลท้องถิ่นจะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังโดยการทำอะไรก็ได้เพื่อที่จะห้ามการฝังศพในบริเวณสนามหญ้าในบ้าน”

สุสานครอบครัวในบ้านของครอบครัวชาวเบอตาวี ภาพถ่ายโดย JJ Rizal

ในวันเดียวกันนั้นเอง ที่เกิมบางันเช่นเดียวกัน ตามคำเล่าลือปากต่อปากของผู้คนนั้นเชื่อกันว่าการทำลายทรัพย์สินและวางเพลิงบ้านหลังหนึ่งซึ่งเป็นขององค์กรชุมชน Pemuda Pancasila (PP) เป็นฝีมือขององค์กรชุมชนอีกแห่งหนึ่งนั่นก็คือ Forum Betawi Rempug (FBR)2 PP เป็นองค์กรที่ก่อตัวขึ้นมาหลังจากการนองเลือดในการรัฐประหารเพื่อโค่นล้มประธานาธิบดีซูการ์โน ในช่วงปลายเดือนกันยายน 2508 องค์กรดังกล่าวเติบโตขึ้นในระหว่างการลงจากอำนาจของซูการ์โน และการเริ่มสถาปนาอำนาจของประธานาธิบดีซูฮาร์โต ในขณะที่ FBR ก่อตัวขึ้นในช่วงเวลาที่อำนาจของประธานาธิบดีซูฮาร์โตกำลังถดถอยลงและระบบบริหารงานรัฐบาลแบบรวมศูนย์กำลังอ่อนแอลงเช่นกัน ทั้งสองปัจจัยซึ่งส่งผลต่อการก่อรูปก่อร่างความตึงเครียดทางสังคมและการเมืองตลอดจนคุณลักษณะของการเมืองท้องถนนแบบจาการ์ตา ในด้านหนึ่ง FBR กล่าวอ้างว่าจะหนุนเสริมเสียงของชุมชนในจาการ์ตาที่ถูกเบียดขับทางสังคมเศรษฐกิจในเชิงประวัติศาสตร์ กล่าวคือ ชุมชนซึ่งจำเป็นจะต้องอาศัยความช่วยเหลือจากองค์กรทำนองนี้เพื่อที่จะต่อกรกับสถานการณ์การขาดแคลนสิ่งอุปโภคบริโภค ความยากจน ตลอดจนการถูกกีดกันหรือเบียดขับทางสังคม ทั้งนี้ แทนที่จะอาศัยแนวทางที่มีฐานคิดแบบชาตินิยม FBR ตอบสนองต่อกระบวนการกระจายอำนาจออกจากศูนย์กลางด้วยวิธีคิดที่วางอยู่บนฐานเชิงชาติพันธุ์ (ethnic-based sentiments) FBR สามารถจะอาศัย/ฉวยใช้ความรับรู้ของสาธารณชนที่จาการ์ตามีรากฐานอยู่ที่ลักษณะอันเป็นหมู่บ้านในเมือง โดยเฉพาะเมื่อสร้างข้อยืนยันในการนำเสนอหรืออธิบายถึงชาวเบอตาวีผู้ซึ่งมีสถานะอันอับจนข้นแค้นในการยืนยันสิทธิในการครอบครองพื้นที่ของเมืองที่ซึ่งเป็นที่ดินที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ3.

ก่อนหน้านั้นไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ ในวันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2557 ในทำนองเดียวกันกับเมืองใหญ่ในโลกอย่างซานฟรานซิสโก ปักกิ่ง บรัสเซล มอสโคว์ และมาร์ราเคช จาการ์ตาก็ร่วมเฉลิมฉลองวันคุ้มครองโลก หรือ “เอิร์ธเดย์” ไปกับเขาด้วย และก็เช่นเดียวกับผู้อยู่อาศัยในเมืองใหญ่อื่นๆ ชาวเมืองจาการ์ตาก็ร่วมปลูกต้นไม้ ตลอดจนเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ อันจะแสดงให้เห็นถึงการตระหนักและเป็นห่วงเป็นใยต่อสิ่งแวดล้อม เหมือนที่เคยเป็นมาเมื่อปีก่อนๆ วันคุ้มครองโลกในปี 2557 ยังคงให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องกระบวนการความเป็นเมือง (urbanization) และมีการพูดกันเกี่ยวกับความจำเป็นเร่งด่วนในการสร้างพื้นที่ในเมืองที่ให้ความสำคัญกับระบบนิเวศมากขึ้น ตรงกันข้ามกับรูปการของการพัฒนาเมืองอันยุ่งเหยิงซึ่งดูเหมือนจะเป็นการบ่อนทำลายความเป็นไปได้ในการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม วิดีโอเฉลิมฉลองที่เผยแพร่ไปทั่วโลกจบลงด้วยคำเชิญชวนประเภทที่ว่า “มาร่วมกับเรา ถึงเวลาแล้วที่จะทำให้เมืองของเราเป็นเมืองสีเขียว”

การอยู่เคียงกันระหว่างการเฉลิมฉลองเอิร์ธเดย์และความรุนแรงระหว่างองค์กรชุมชนรากหญ้าจึงเปรียบได้กับการรวบยอดเงื่อนไขของวิกฤตการณ์ในจาการ์ตาให้ปรากฏอย่างแท้จริง เมืองหลวงซึ่งไม่เพียงแต่จะต้องเผชิญกับความท้าทายทางสิ่งแวดล้อม ทว่ายังรวมไปถึงประเด็นว่าด้วยความเปราะบางของมนุษย์ภายใต้ความขัดแย้งทางสังคมอันรุนแรงซึ่งมีที่มาจากความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกันทางสังคม แล้วสำหรับจดหมายของผู้อ่านที่ว่าด้วยหลุมศพในสวนนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับวิกฤตการณ์นี้อย่างไรเล่า?

 

ต้นตอของวิกฤตการณ์

ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมเมืองอย่างเมอลานี บูดีอันตา (Melani Budianta) อธิบายถึงต้นตอของวิกฤตการณ์ในจาการ์ตา ทั้งภัยพิบัติเชิงนิเวศวิทยาและความขัดแย้งทางสังคมว่าวางอยู่บนความขายหน้าในหมู่ผู้คนระดับบนในสังคมจาการ์ตาที่ว่าเมืองจาการ์ตาถูกพิจารณาในฐานะที่เป็นเพียงแค่หมู่บ้านขนาดใหญ่เท่านั้น4 คำเยาะเย้ยถากถางนี้เริ่มต้นขึ้นในสมัยของซูการ์โน และกล่าวได้ว่าเป็นผลผลิตของการเมืองสมัยสงครามเย็น ตัวของซูการ์โนเองนั้นก็แสดงออกว่าได้รับผลกระทบจากคำประณามตีตราทำนองนี้อย่างเด่นชัด ด้วยเหตุดังนั้น ในระหว่างการครองอำนาจ เขาจึงริเริ่มโครงการทดลองในเชิงสถาปัตยกรรมและการเมืองเชิงพื้นที่เพื่อที่จะปรับเปลี่ยนจาการ์ตาจากที่เคยเป็นเมืองหลวงแห่งอาณานิคมอย่างบาตาเวียไปสู่การเป็นเมืองหลวงของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ตลอดจนเป็นแกนกลางของของกลุ่ม “กองกำลังเกิดใหม่” (New Emerging Forces; NEFO) กลุ่มของชาติที่เพิ่งพ้นจากภาวะอาณานิคม

ในการแต่งตั้งให้อาลี ซาดีกิน (Ali Sadikin) เป็นผู้ว่าการกรุงจาการ์ตา เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2509 ซูการ์โน กล่าวว่า “จาการ์ตาควรจะมีหน้าตาแบบที่คู่ควร” หรือในอีกแง่หนึ่งก็เพื่อที่จะมี “หน้าตาทันสมัยแบบนานาชาติ” ซึ่งเขามักจะกล่าวย้ำอยู่บ่อยๆ ในวาระต่างๆ ความพยายามที่จะทำให้เมืองหลวงแห่งนี้มีรูปลักษณ์อันสง่างามนั้นก็ถูกแปลออกมาโดยอาลี ซาดีกิน ในฐานะภารกิจที่จะปรับเปลี่ยนรูปโฉมจาการ์ตาจาก “หมู่บ้านขนาดใหญ่” หรือ กัมปง (kampong) ขนาดใหญ่ ให้กลายไปเป็นมหานคร “ระดับโลก” ภารกิจนี้ได้รับแรงเหวี่ยงระหว่างการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองอันรวดเร็วและตื่นตาตื่นใจจากผู้นำคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง ภายใต้การปกครองของซูฮาร์โต ภารกิจในการนำพาจาการ์ตาไปสู่ความทันสมัยนั้นเป็นสัญญาณของการต้อนรับการกลับมาของทุนในระดับโลก ซึ่งเคยถูกซูการ์โนไล่กวดให้ “ไปลงนรก” มาก่อน ทุนระดับโลกร่วมไปกับพลังอำนาจของชนชั้นปกครองที่ติดอาวุธนั้นจึงสร้างภาพปรากฏของความเป็นชาตินิยมขึ้นมาใหม่ ซึ่งรวมไปถึงคุณลักษณะของความเป็นเมืองด้วย

ผลกระทบจากขาขึ้นของตลาดน้ำมันและการไหลบ่าเข้ามาอย่างท่วมท้นของการลงทุนจากต่างประเทศยิ่งเป็นเครื่องยืนยันว่าจาการ์ตาไม่ได้เป็นแต่เพียงพื้นที่แห่งการเคลื่อนย้ายของผู้คนดังในสมัยซูการ์โนอีกต่อไป แต่ยังกลายเป็นพื้นที่ของการเคลื่อนย้ายและระดมทุน (capital mobilization) กระบวนทัศน์ของการพัฒนานี้เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการพัฒนาแบบ “ทันทีทันใด” โดยเฉพาะเมื่อการก่อสร้างโครงการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานได้รับการเชิดชู การขยายตัวทางเศรษฐกิจจึงตามติดมาด้วยการเติบโตของจำนวนประชากร ระหว่างปี 2509 จนถึง 2519 ประชากรในจาการ์ตาเพิ่มขึ้นจาก 3.6 ล้านคน ไปจนเกินกว่า 5.7 ล้านคน อาลี ซาดีกิน ปฏิบัติงานภายใต้จิตสำนึกของการพัฒนาแบบเร่งด่วน และอัตราการเพิ่มของประชากรก็เพิ่มอย่างต่อเนื่องที่ 4.5 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี จากกัมบีร์ (Gambir) ทั้งพื้นที่ใจกลางของเมืองและศูนย์กลางของความล้มเหลวในการทดลองเชิงการเมืองเรื่องพื้นที่ทางสถาปัตยกรรม ที่ซึ่งถูกละทิ้งในฐานะเศษซากของความใฝ่ฝันอันยิ่งใหญ่ กลุ่มโครงสร้างอาคารที่ยังสร้างไม่เสร็จตั้งตระหง่านอยู่เหนือสลัมและกองขยะเน่าเหม็น อาลี ซาดีกินวางแนวทางในการบริหารให้กัมปงขนาดใหญ่นี้กลายไปเป็นมหานครนานาชาติ อาลี ซาดีกินเริ่มที่จะถางลู่ทางในการดำเนินแผนโครงการดังกล่าวโดยเริ่มจากสุสาน

ในปี 2509 สุสานสาธารณะในจาการ์ตายังอยู่ในสภาพที่ไม่ดีนัก มีสุสานกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในเมือง อันที่จริง จาการ์ตารอดพ้นจากความสยดสยองของการสังหารหมู่หลังเหตุการณ์ความพยายามก่อรัฐประหารโดยขบวนการ 30 กันยายน ซึ่งเกิดขึ้นในหลากหลายเมือง ทั้งนี้ ด้วยเหตุที่กองทัพฝ่ายรัฐบาลสามารถโน้มน้าวให้มวลชนฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์ระบายความโกรธแค้นและกระทำความรุนแรงผ่านการทำลายและปล้นชิงทรัพย์สิน กระนั้นก็ตาม ประเด็นเรื่องร่างของผู้เสียชีวิตก็ยังคงเป็นปัญหารุนแรงที่ต้องการการแก้ไขสำหรับเมืองอย่างจาการ์ตา รัฐบาลเมืองคาดการณ์ว่ามีผู้เสียชีวิตราว 160 คนต่อวัน หรือ 60,000 คนต่อปี ความพยายามในการควบคุมและจัดการตลอดจนการเร่งเร้าความเปลี่ยนแปลงในการจัดการสุสานจึงได้รับการตระเตรียมไว้ในแผนแม่บทจาการ์ตา 2508-2528 ตั้งแต่นั้นมาจึงมีชุดข้อกำหนดจำนวนมากเกิดขึ้นมาเพื่อจัดการและกำหนดขอบเขตการใช้ที่ดินและพื้นที่ในการฝังศพ

สุสานครอบครัวในบ้านของครอบครัวชาวเบอตาวี ณ ลูบังบูอายา (Lubang Buaya) จาการ์ตาตะวันออก ภาพถ่ายโดย Abdul Latif

จนกระทั่งถึงปี 2518 อาลี ซาดีกินได้ขุดและเคลื่อนย้ายศพไปกว่า 41,530 ศพ จากสุสานกว่า 26 แห่ง ทั้งที่เป็นสุสานสาธารณะและสุสานของครอบครัว กินพื้นที่ไปกว่า 167,813 เฮกตาร์ ในการจะอำนวยความสะดวกแก่ชุมชนต่างๆ ในการเคลื่อนย้ายศพผู้คนในครอบครัวเหล่านั้นมีการจัดหารถขนศพไว้ถึง 18 คัน5 ซากศพทั้งหมดนั้นต้องถูกนำไปฝังใหม่ในสุสานแห่งใหม่ที่กำหนดโดยรัฐบาล สุสานแต่ละแห่งมีพื้นที่ประมาณ 30 เฮกตาร์ โดยประกอบไปด้วยพื้นที่อย่าง Tanah Kusir, Jeruk Purut, Tegal Alur, Pasar Minggu, Cipinang Besar, Menteng Dalam, Tanjung Barat, Meteng Pulo และ Grogol Petamburan และเพื่อเป็นไปตามข้อบังคับใหม่ๆ สุสานสาธารณะและสุสานครอบครัวเดิมก็ล้วนแต่ต้องโยกย้ายไปทั้งสิ้น

ร่วมไปกับการดำเนินการจัดการสุสาน อาลี ซาดีกินยังดำเนินนโยบายเปลี่ยนแปลงพื้นที่ โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนพื้นที่ในเชิงชนชั้น (gentrification) ภายใต้วิธีคิดที่จะเปลี่ยนสลัมให้กลายไปเป็นย่านของชนชั้นนำ ถึงแม้จะยังเป็นที่ถกเถียงกันได้ว่านโยบายที่อาลี ซาดีกินริเริ่มขึ้น โดยเฉพาะโครงการ M.H. Thamrin Kampong Improvement นั้นเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยจริงหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม ในการวิเคราะห์ของนักประวัติศาสตร์เมืองอย่างซูซาน แบล็คเบิร์น (Susan Blackburn) เธอกล่าวในหนังสือเรื่อง Jakarta: A History ว่าโครงการดังกล่าว “ดูจะไม่ต่างอะไรกับรัฐบาลเมืองในสมัยอาณานิคมดัตช์ รัฐบาลจาการ์ตาเลือกหนทางที่ง่ายกว่าในการช่วยเหลือผู้ยากไร้ เพื่อที่จะกันพวกเขาออกไปจากการรบกวนพื้นที่บางส่วนของเมืองที่ดูคู่ควรแก่ฐานะของเมืองหลวงสมัยใหม่นานาชาติ”6 งบประมาณที่ได้รับการจัดสรรเพื่อโครงการนี้เล็กน้อยกว่างบประมาณด้านอื่นๆ ของจาการ์ตา นี่ไม่ใช่คุณลักษณะเฉพาะภายใต้สมัยของอาลี ซาดีกินแต่อย่างใด ทว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในสมัยระเบียบใหม่ (New Order) ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่จาการ์ตาและมอง “พื้นที่” ในฐานะที่เป็นสินค้า เพราะฉะนั้น การพัฒนาเมืองจึงรุกล้ำพื้นที่กัมปงของชาวเบอตาวีแล้วเปลี่ยนให้กลายไปเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยแบบสมัยใหม่ กัมปงถูกประชิดและรายล้อมด้วยโครงสร้างพื้นฐานใหม่ในทันทีทันใด สิ่งอำนวยความสะดวกตามมาตรฐานของสังคมเมืองต่างก็ปรากฏขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ถนนลาดยาง โรงภาพยนตร์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ธนาคาร ร้านอาหาร และโรงเรียนเอกชน

ในช่วงเวลานั้นมีคำกล่าวติดปากที่แพร่หลายในจาการ์ตาก็คือ “masup mubil” (รถสามารถผ่านได้) คล้ายจะหมายความว่าสถานที่แห่งนั้นไม่ใช่กัมปงแบบเดิมที่มีแต่ถนนดินแคบๆ อีกต่อไปแล้ว คำกล่าวทำนองนี้อธิบายความรับรู้ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่เมืองเชิงชนชั้นของชาวเบอตาวีในฐานะที่ไม่ได้เป็นแง่ลบหรือแง่ร้าย ทว่าเป็นการยกระดับคุณลักษณะเชิงกายภาพของกัมปงเสียด้วยซ้ำ ภาพลักษณ์เชิงบวกนี้ขยายตัวอย่างแข็งขันพร้อมๆ ไปกับคำพูดใหม่ๆ ที่มีน้ำเสียงคล้ายกันกับ “masup mubil” ไม่ว่าจะเป็น “ade bioskop” (มีโรงภาพยนตร์) หรือ “deket supermarket” (ใกล้ซุปเปอร์มาร์เก็ต) คำกล่าวเหล่านี้ล้วนแต่กลายมาเป็นสัญญะแทนความเป็นบริโภคนิยม (consumerism) ในชุมชนของชาวเบอตาวี การรุกล้ำเข้ามาของวิธีคิดแบบบริโภคนิยมยังสามารถติดตามแกะรอยได้ผ่านการปรากฏและแพร่หลายของคำกล่าวในชีวิตประจำวันอื่นๆ ที่ใช้เพื่ออธิบายความปรารถนาในอันที่จะมีวิถีชีวิตแบบ “คนมี (อันจะกิน)” ซึ่งตรงกันข้ามกับ “คนไม่มี (อันจะกิน)” ไม่ว่าจะเป็น คำว่า “orang gedongan” (ผู้คนที่อาศัยในบ้านอิฐ) รวมถึงคำอย่าง “merabot” และ “majang”—“merabot” หมายถึงการซื้อเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้านที่มียี่ห้อและมีราคาแพงเป็นจำนวนมาก ขณะที่ “majang” หมายถึงการจัดแสดงหรือการแสดงออกเพื่อให้เห็นว่าเป็นผู้ครอบครองสิ่งของมีราคาต่างๆ

ในขณะที่ชุมชนเบอตาวีเข้าถึงภาวะความทันสมัยมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน ราคาที่ดินก็เพิ่มสูงขึ้นตามการปรับเปลี่ยนพื้นที่ในเชิงชนชั้น และนั่นก็นำไปสู่การขยายตัวของการเสนอซื้อที่ดิน นี่จึงเป็นช่วงเวลาที่ชุมชนกัมปงชาวเบอตาวีกระโจนสู่สายลมของการเปลี่ยนแปลงในการที่จะบรรลุความปรารถนาในเชิงบริโภคนิยม เนื่องเพราะพวกเขาสามารถครอบครองทรัพยากรที่จะเข้าถึงและได้รับมัน ผลสืบเนื่องจากกระบวนการปรับเปลี่ยนพื้นที่ในเชิงชนชั้นยังเปิดโอกาสให้พวกเขาเติมเต็มความปรารถนาเชิงศาสนา โดยเฉพาะเรื่องที่ได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่ยังเล็ก เมื่อจะเข้านอน บรรดาแม่ๆ ในกัมปงชาวเบอตาวีทั้งหลายต่างก็รักที่จะร้องเพลงกล่อมลูกๆ ของพวกเธอ “Ya Allah ya Rabbi, minta rezeki biar lebi, biar bisa pergi haji, ziarah ke kuburan Nabi” (โอ้ พระผู้เป็นเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ โปรดประทานอีกสักเล็กน้อย เพื่อที่เราจะสามารถออกเดินทางแสวงบุญ เพื่อที่จะไปสักการะหลุมศพของท่านศาสดาได้) คล้ายกับว่าพวกพ่อแม่ผู้ปกครองกำลังย้ำเตือนลูกๆ เกี่ยวกับภาระผูกพันต่อหลักการข้อที่ห้าของศาสนาอิสลามในอนาคต อัลวี ชาฮับ (Alwi Shahab) นักเขียนผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมจาการ์ตาอภิปรายไว้ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1970 ว่า มีผู้คนชาวเบอตาวีจำนวนมากต่างก็เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์หลังจากการขายที่ดิน หรือหลังจากที่ถูกไล่จากบ้านภายใต้โครงการพัฒนา ปรากฏการณ์นี้จึงนำไปสู่การเกิดขึ้นของคำกล่าวที่ว่า “haji gusuran” หรือการไปฮัจญ์หลังการถูกขับไล่ 7.

ในกระบวนการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของเมือง ชาวเบอตาวีพ่ายแพ้ให้กับความยั่วยวนใจจากเงินที่ได้มาอย่างรวดเร็ว กระนั้น สิ่งสำคัญก็คือต้องเน้นย้ำด้วยว่า ไม่ใช่ทุกกรณีที่มีการซื้อขายเปลี่ยนมือผู้ครอบครองที่ดินนั้นค่าตอบแทนจะสมเหตุสมผลหรือเป็นจำนวนที่เหมาะสม ประเด็นสำคัญในที่นี้อยู่ที่อำนาจในการเบียดขับหรือการกำจัดออกไป กระบวนการกีดกันและขับไล่เริ่มต้นมาจากการบังคับใช้ข้อบังคับต่างๆ ในการที่จะกำหนดขอบเขตของที่ดิน และส่งผลกระทบถึงผู้คนที่จะมีสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากที่ดินเหล่านั้น ตลอดจนข้อกำหนดที่ว่าที่ดินนั้นจะใช้ประโยชน์อะไร ตัวแสดงสำคัญที่มีอำนาจในการจัดการก็คือรัฐบาล ผ่านกระบวนการรับรอง (certification) แบ่งสรรปันส่วน (allocation) กระบวนการทำให้เป็นทางการ (formalization) และการคุ้มครองที่ดิน (land conservation)

ตัวอย่างเช่นในการดำเนินงานแผนแม่บทจาการ์ตา 2508-2528 รายละเอียดของมันกลับถูกทำให้ไม่สามารถเข้าถึงได้ง่ายๆ ด้วยความจงใจที่จะขัดขวางนักเก็งกำไรที่ดิน แต่ถึงที่สุดแล้ว การเข้าถึงลำบากนี้กลับสร้างปัญหาแก่ชาวเบอตาวี และกลับกลายเป็นการทำให้ที่ดินตกไปอยู่ในมือของนักเก็งกำไรแทน มันมีช่วงเวลาที่ชาวเบอตาวีสมัครใจยินยอมล่าถอยหรือสละการถือครองที่ดิน เป็นต้นว่าในกรณีที่ผู้มีอำนาจในรัฐบาลกล่าวว่าต้องการตัดถนนผ่านอาณาบริเวณที่พวกเขาเป็นเจ้าของ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วชาวเบอตาวีก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพื้นที่จริงๆ ที่จะกลายเป็นถนนอยู่ตรงไหน และก็จะต้องสูญเสียการถือครองที่ดินมากขึ้นอยู่เรื่อยไป ส่วนใหญ่แล้ว ผู้คนจำนวนมากถูกบังคับให้ออกจากที่ดินของตนเองโดยสิ้นเชิง คริสต์ทศวรรษ 1970 เป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยข้อพิพาทเรื่องที่ดิน การเข้ายึดครองที่ดินนั้นเป็นการกระทำที่ดูราวกับปฏิบัติการทางการทหาร ดังตัวอย่างกรณีของ Kampung Rawasari ในปี 2515 ตลอดจน Bendingan Hilir และ Pondok Indah ในปี 2518 เป็นต้น

การขับไล่ชาวเบอตาวียังทำผ่านกลไกตลาดในรูปแบบของการขึ้นราคาที่ดิน ภายใต้ความเติบโตของความต้องการพื้นที่สำหรับการพัฒนาและกระบวนการกลายเป็นเมือง การซื้อขายเปลี่ยนมือของสิทธิในการถือครองที่ดินก็เพิ่มสูงอย่างรวดเร็ว ผลที่ตามมาก็คือ ความขัดแย้งในครอบครัวในบริบทของการพิพาทในการอ้างสิทธิ ซึ่งมักผลักญาติพี่น้องในครอบครัวออกไปจากกัน โดยเฉพาะฝ่ายที่ไม่ต้องการขายที่ดิน ขณะที่ร่างของสมาชิกในครอบครัวที่ถูกฝังอยู่ก็ยังต้องถูกขับไล่ให้ย้ายออกไปจากสนามหญ้าด้วย ในสถานการณ์ทำนองนี้ระบบเครือญาติจึงตกอยู่ในภาวะเปราะบางและพร้อมจะแตกหัก ต่างไปจากอุดมคติของครอบครัวที่สมาชิกเผชิญช่วงเวลาที่ยากลำบากและช่วงเวลาที่ดีร่วมกัน ร่วมหัวจมท้ายต่อสู้กับความยากจนร่วมกันภายใต้สำนึกแบบความสมัครสมานของกัมปง ทว่าแรงปรารถนาต่อชีวิตอันมั่งคั่งก็ดึงดูดใจเหลือทน

นับตั้งแต่นั้นมา ชาวเบอตาวีเป็นกลุ่มคนที่ต้องพบพานกับกระบวนการกลายเป็นชายขอบและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจรุนแรงโดยเปรียบเทียบกับผู้อยู่อาศัยในเมืองกลุ่มอื่นๆ สถานการณ์ยิ่งย่ำแย่ไปอีกเพราะสำหรับในอีก 25 ปีต่อมา การพัฒนาเมืองถูกส่งต่อให้ไปอยู่ในมือของนักพัฒนาและนักเก็งกำไรทางการเงิน ภายใต้ความเชื่อที่ว่าจาการ์ตาจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดในทำนองเดียวกันกับมหานครใหญ่ๆ ในโลก ชะตากรรมของพวกเขายังเลวร้ายลงไปอีกภายใต้การเติบโตของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มขึ้นในปี 2516 ซึ่งพุ่งสูงอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2530 และอีกครั้งหนึ่งในปี 2543 ในขณะที่ราคาที่ดินในเมืองที่ผู้คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นอย่างจาการ์ตานั้นได้รับการคาดหมายว่าจะเพิ่มสูงขึ้นตามกาลเวลา อย่างไรก็ตาม ยิ่งมีผู้อยู่อาศัยมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ถูกขับไล่ออกไปเพื่อการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ชาวเบอตาวีในจาการ์ตาจึงกลายเป็นผู้คนและชุมชนพื้นเมืองที่ถูกทำให้เป็นชายขอบในกัมปงของตัวเอง ในงานเขียนเชิงเสียดสีของอับดุล ชาแอร์ (Abdul Chaer) ผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมเบอตาวีอภิปรายถึงชะตากรรมอันแสนเศร้าของชาวเบอตาวีไว้ว่า “เมื่อชาวเบอตาวีรวมตัวกัน ยิ้มแย้มและหัวเราะร่าเริงนั้น พวกเขากำลังชวนให้ระลึกถึงภาพอดีต แต่เมื่อหน้าตาของพวกเขาถอดสีหน้าและเศร้าหมอง ก็เป็นเพราะพวกเขากำลังถกเถียงถึงชะตากรรมในปัจจุบันเป็นแน่แท้” 8.

ผู้คนชาวเบอตาวีมีส่วนร่วมในแนวเรื่องเล่าว่าด้วยความเจริญเติบโตจากการพัฒนาเศรษฐกิจอันเป็นดั่งคำมั่นสัญญาของกระบวนการความทันสมัย (modernization) เพียงแค่ในฐานะผู้พ่ายแพ้ในการแข่งขันทางสังคมและซ้ำร้ายยังถูกขับไสไล่ส่งออกไปจากเวที นั่นคือผลสืบเนื่องมาจากการที่ชุมชนท้องถิ่นซึ่งผูกโยงอย่างแน่นแฟ้นกับผืนดิน แต่ไม่สามารถที่จะเติมเต็มเงื่อนไขความจำเป็นจากที่ดินได้อีกต่อไป ทั้งโดยเจตนาและโดยไม่เจตนาที่จะถูกบังคับให้ต้องสูญเสียที่ดินไป ประเด็นนี้จึงแสดงให้เห็นว่าความหมายและความสำคัญของที่ดินสำหรับชาวเบอตาวีนั้นเปลี่ยนแปลงไปโดยเป็นผลมาจากความเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายในการใช้ที่ดิน มันเกิดขึ้นอันเนื่องมาแต่หลุมศพในสนามหญ้า เมื่อป้อมปราการของชาวเบอตาวีผู้ซึ่งผูกพันกับผืนดินถูกทำลายลงไปในอันดับแรก

ความหมายของหลุมศพ

หลุมศพในสนามหญ้าของชาวเบอตาวีอาจเปรียบได้กับการเป็นป้อมปราการที่ปกป้องผู้คนชาวเบอตาวีไว้จากกระบวนการเบียดขับให้เป็นชายขอบซึ่งมักเกิดขึ้นผ่านการยึดครองที่ดินที่พวกเขาเคยเป็นเจ้าของหรืออาศัยอยู่ ถ้าเช่นนั้นจะมีเงื่อนไขอะไรที่จะเอื้อให้หลุมศพสามารถจะหยุดยั้งการคุกคามจากกระบวนการสะสมทุนอันเนื่องมาจากการพรากเอาทรัพย์สินและทรัพยากรไปจากพวกเขาได้?

“Orang mati bukan kedebongan pisang” (คนตายไม่ใช่ต้นกล้วย) คำพูดเก่าๆ นี้อาจใช้ในฐานะที่เป็นจุดเริ่มต้นในการทำความเข้าใจความหมายของที่ดินในวัฒนธรรมเบอตาวี พวกเขาเชื่อว่าวิญญาณของสมาชิกในครอบครัวที่เสียชีวิตไปแล้วจะไม่จากถิ่นฐานบ้านเรือนที่ตนเองเคยอาศัยอยู่ ความหมายเดียวกันนี้ยังเป็นจริงเช่นกันเมื่อใช้อธิบายการที่ชาวเบอตาวีฝังรกของเด็กเกิดใหม่ในสนามหญ้าของบ้าน สายรกมีหน้าที่คอยส่งอาหารสำหรับการเติบโตของทารกในครรภ์ และสำหรับในวัฒนธรรมเบอตาวีแล้ว รกยังถูกพิจารณาในฐานะที่เป็นฝาแฝดหรือพี่น้องของทารกในครรภ์อีกด้วย

หลุมฝังศพในสนามหญ้าจึงเป็นประจักษ์พยานของความคิดความเชื่อที่ว่าผืนดินมีตำแหน่งแห่งที่ที่สำคัญในกฎหมายเชิงจารีตประเพณีของชาวเบอตาวีเพราะไม่ใช่เพียงแต่ผืนดินจำนวนเพียงเล็กน้อยที่ถือครองอยู่จะเป็นภาพปรากฏหนึ่งของทรัพย์สินที่ครอบครอง หากยังเป็นสถานที่อันเป็นที่ตั้งอยู่ของครอบครัวและชุมชน เป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิตและทำมาหากิน และยังเป็นสถานที่ที่ใช้สำหรับฝังศพสมาชิกในครอบครัวและญาติพี่น้องที่เสียชีวิตไปแล้ว ตามความเชื่อของชาวเบอตาวีชุมชนอาศัยอยู่ร่วมกับวิญญาณบรรพบุรุษในที่ดินของพวกเขาเอง โลกทัศน์เชิงไสยศาสตร์-ศาสนาทำนองนี้เป็นพื้นฐานของกฎหมายเชิงจารีตประเพณีของชาวเบอตาวีซึ่งกำกับความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนและที่ดินที่พวกเขาอยู่อาศัยนั้นเป็นเหมือนความสัมพันธ์ระหว่างเหงือกและฟัน กล่าวคือ ไม่สามารถแยกจากกันได้

อาคารขนาดเล็กที่สร้างให้คลุมหลุมฝังศพในสนามหญ้าบ้านของชาวเบอตาวี 
ภาพถ่ายโดย Abdul Latif

โลกทัศน์เชิงไสยศาสตร์-ศาสนาได้รับอิทธิพลจากคัมภีร์ของศาสนาอิสลาม ซึ่งเชื่อว่าสวนเป็นพื้นที่เหนือธรรมชาติของบรรพชนที่ถูกเปลี่ยนให้มาอยู่ในรูปของพื้นที่จริง มุมมองลักษณะนี้ชาวเบอตาวีล้วนแต่ได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่ยังเด็ก “Kencing jangan sembarangan, puhunan ade penunggunye” (อย่าปัสสาวะเรี่ยราด ต้นไม้ต่างก็มีผู้พิทักษ์รักษาอยู่ทั้งนั้น) แน่ล่ะ แม้ว่าความเชื่อเหล่านี้จะเป็นความเชื่อในเชิงนิทานปรัมปรา แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไรที่จะชื่นชมและเคารพคุณค่าของจารีตลักษณะนี้ที่มองว่าต้นไม้เป็นพื้นที่ของบรรพชน และพื้นที่รายรอบเป็นสถานที่ซึ่งเต็มเปี่ยมไปด้วยการดำรงอยู่ของบรรพชน กฎหมายเชิงประเพณีนั้นกำกับว่าหากสมาชิกในครอบครัวคนใดเสียชีวิตก็จะต้องฝังร่างเอาไว้สนามหญ้า หลุมศพจะต้องมีการทำเครื่องหมายไว้โดยการเพาะปลูกต้นไม้จำพวกที่ให้ผลไม้เป็นจำนวน 7 ต้น อยู่รอบๆ หลุมศพนั้น เชื่อว่าต้นไม้เหล่านี้จะคุ้มครองความปลอดภัย เพราะถ้าหากจะกล่าวในเชิงจิตวิญญาณแล้วใครสักคนก็ย่อมจะได้รับปกป้องคุ้มครองจากบรรพบุรุษซึ่งอยู่ไม่ไกลออกไปจากบ้านอยู่แล้ว ยิ่งไปกว่านั้น ต้นไม้ยังให้ความมั่นคงทางเศรษฐกิจผ่านการออกผลตลอดทั้งปี นี่เองคือพื้นฐานของระบบวัฒนธรรมเบอตาวี สำนึกทางเวลาจึงวางอยู่บนช่วงเวลาที่ต้นไม้ออกผลหรือให้ผลผลิต มันจึงมี “ฤดูทุเรียน” “ฤดูมังคุด” “ฤดูมะม่วง” และอื่นๆ ต้นไม้เหล่านี้ยังเป็นแหล่งที่มาของศิลปวัตถุ เช่น หน้ากากซึ่งมักจะใช้ในการละครแบบดั้งเดิมของชาวเบอตาวี
หลุมศพในสนามหญ้าที่ล้อมรอบไปด้วยต้นไม้จึงสามารถตีความได้ในฐานะที่เป็นพื้นที่ของอัตลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ ตลอดจนนิเวศวิทยาของชุมชนเบอตาวีเนื่องจากหลุมฝังศพเหล่านี้ช่วยให้ผู้คนสามารถเชื่อมโยงอดีตของจาการ์ตาได้ไม่ยาก อดีตซึ่งเปิดเผยคุณลักษณะอันเฉพาะเจาะจงของวัฒนธรรมเบอตาวีซึ่งวางอยู่บนทัศนะที่เห็นว่าธรรมชาติปกครองมนุษยชาติและมนุษยชาติก็หลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นผ่านชื่อสถานที่ในจาการ์ตาซึ่งมีที่มาจากชื่อต้นไม้ ไม่ว่าจะเป็น Kampong Gandaria, Johar, Menteng, Duku, Serdang, Bungur, Bintaro, Kedoya และอีกมากมาย การระบุโดยผูกโยงเข้ากับต้นไม้เหล่านี้อย่างเข้มข้นจึงสร้างคำศัพท์ที่มีที่มาจากลักษณะทางภูมิประเทศในจาการ์ตาที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า kebun (สวน) ดังเช่น Kebun Pala, Kebun Jeruk, Kebun Sirih และแม้แต่คำว่า hutan (ป่า) ไม่ว่าจะเป็น Utan Kayu, Utan Pitik, Utan Panjang ฯลฯ

อัตลักษณ์ทางประวัติศาสตร์และนิเวศวิทยานั้นย่อมเกี่ยวโยงกับความเป็นจริงทางเศรษฐกิจ โลกทัศน์เชิงไสยศาสตร์-ศาสนาเกี่ยวกับหลุมศพในสนามหญ้าทำให้แง่มุมเหล่านี้เข้มแข็งขึ้น เนื่องจากความเชื่อที่ว่าตราบเท่าที่ต้นไม้ได้รับการดูแล ต้นไม้จะไม่ได้มีหน้าที่แต่เพียงการเป็นที่ตั้งในการสวดภาวนาสำหรับคนตายและการเชื่อมโยงไปสู่อดีตในฐานะที่เป็นพื้นที่สำหรับการอยู่อาศัยที่เกี่ยวโยงอยู่กับต้นไม้ในทางกายภาพเอง แต่ต้นไม้เหล่านี้ยังนำมาซึ่งคำอวยพรต่อความมั่งคั่งของผู้ที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เพื่อนบ้าน ตลอดจนชุมชนหมู่บ้านในภาพรวมทั้งหมด นักมานุษยวิทยาลีอา เจลลิเน็ค (Lea Jellinek) กล่าวไว้ในงานวิจัยของเธอเกี่ยวกับ Kebon Kacang และจาการ์ตาตอนกลางในคริสต์ทศวรรษ 1970 ว่า “คุณนายเจียเป็นคนพื้นเมืองชาวเบอตาวี บ้านของเธอมีพื้นดินที่รายรอบไปด้วยสวนผัก ผลไม้ มีบ่อปลา เล้าไก่ และคอกแพะ”9 เจลลิเน็คยังสังเกตเห็นว่าผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้จากสวนเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่แบ่งปันกันในหมู่เพื่อนบ้าน ขณะที่ส่วนที่เหลือจึงจะห่อและนำไปขายในที่ตลาด Tanah Abang หรือเร่ขายในหมู่บ้าน
เรื่องราวนี้ให้ภาพความเข้าใจที่ว่า นอกเหนือจากการพิจารณาทางเศรษฐกิจ สำนึกของชุมชนและการแบ่งปันเป็นสิ่งที่มีอยู่ และกัมปงคือเครื่องรับรองชั้นดีของการมีอากาศที่ไหลเวียนและคุณภาพอากาศที่ดี มากไปกว่านั้น ต้นไม้ยังให้ความคุ้มครองป้องกันภาวะวิกฤตอันเนื่องมาจากการสูญเสียสมดุลของระบบนิเวศอันเนื่องมาจากปัญหาทางสิ่งแวดล้อมอันสั่งสมและหมักหมมในจาการ์ตา ไม่ว่าจะเป็น การลดต่ำลงของระดับน้ำบาดาล มลพิษทางอากาศ การขาดแคลนน้ำสะอาด และการขาดแคลนพื้นที่สีเขียว แง่มุมทางสถาปัตยกรรมของหลุมศพในสนามหญ้าของชาวเบอตาวี ซึ่งในความเป็นจริงแล้วก็คือสวนผักผลไม้และสมุนไพรนั้น มีคุณค่ามากยิ่งกว่าตัวบ้านเองเสียอีก อีกทั้งเนื่องเพราะหลุมศพในสนามหญ้านั้นเป็นสิ่งยึดกุมคุณค่าทางวัฒนธรรม จิตวิญญาณ นิเวศวิทยา และเศรษฐกิจ
ดังนั้น ด้วยเหตุผลเบื้องหลังเหล่านี้ การจดจำเรื่องราวของหลุมศพในสนามหญ้าจึงเป็นหนทางในการจดจำมรดกจากอดีต ซึ่งสามารถที่จะมีฐานะเป็นพื้นที่ที่คุณค่าที่มีร่วมกันสามารถเติบโตได้ในบริบทสังคมเมือง หลุมศพในสนามหญ้าเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจในอันที่จะหลอมรวมและจัดการทรัพยากรในชุมชนหมู่บ้าน และเป็นพื้นฐานของขบวนการเคลื่อนไหวของชุมชนที่กำลังก่อตัวขึ้นใหม่ นี่จึงเป็นระบบที่รองรับและสนับสนุนชีวิตของจาการ์ตา ซึ่งสำหรับผู้สังเกตการณ์แล้วก็มักจะเห็นว่าเป็นมหานครอันน่าเศร้า เนื่องเพราะการขาดแคลนพื้นที่สาธารณะ และผู้คนผู้อยู่อาศัยต่างก็ต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ของความเห็นอกเห็นใจอยู่เนืองๆ เมื่อพื้นที่ทุกรูปแบบได้รับการตีค่าในฐานะสินทรัพย์ทางการเงิน มันจึงมีแรงกดดันต่อพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่สำหรับส่วนรวม ซึ่งอาจทำหน้าที่ในการเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ที่จะสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลายและจากผู้คนที่หลากหลาย ณ จุดนี้ หลุมศพในสนามหญ้าจึงมีบทบาทในความพยายามที่จะเรียกคืนพื้นที่เมืองกลับคืนมาจากการควบคุมของทุนที่เห็นพื้นที่แต่เพียงในแง่ของเงินตรา
หลุมศพในสนามหญ้าจึงกลายเป็นรูปแบบหนึ่งของรหัสช่วยจำ หรือคำสั่งหรือข้อความง่ายๆ ที่ช่วยกระตุ้นย้ำความทรงจำ เพื่อที่จะเอื้อให้ผู้อยู่อาศัยในเมืองสามารถธำรงเครือข่ายความทรงจำและการปฏิบัติที่จะยังคงรักษาให้หมู่บ้านและผู้อยู่อาศัยใกล้ชิดกับธรรมชาติ สำนึกรับรู้ว่าด้วยความใกล้ชิดนี้แฝงฝังอยู่ในหมู่บ้านแต่ละแห่ง และมีศูนย์กลางอยู่ที่หลุมศพในสนามหญ้านี้เอง ใครสักคนที่มาจากที่ไหนสักแห่งสามารถที่จะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนหมู่บ้านได้ในแง่ใดแง่หนึ่ง พวกเขาสามารถจะหาหนทางที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในฐานะส่วนหนึ่งของชุมชน จินตนาการหนทางที่จะดำรงอยู่ร่วมกัน ทั้งในวันนี้และในอนาคต ผ่านความเห็นอกเห็นใจกันและสำนึกว่าด้วยความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

กลยุทธ์ในการแยกจาก

ในวรรณกรรมแนวรักๆ ใคร่ๆ ที่โด่งดังมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 เรื่อง Nyai Dasima เขียนโดยนักเขียนยูเรเซียน จี. ฟรานซิส (G. Francis) บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการติดอยู่ในวังวนของความโชคร้ายของตัวละครชื่อดาซีมา (Dasima) นับตั้งแต่เธอละทิ้งบ้านที่สร้างขึ้นด้วยอิฐและกลับไปสู่หมู่บ้านเดิมของเธอ ในท้ายที่สุดดาซีมาตายอย่างทารุณเมื่อคอของเธอถูกเฉือนโดยนักเลงในหมู่บ้าน และร่างของเธอก็ถูกทิ้งลงไปในแม่น้ำจีลีวุง (Ciliwung) เรื่องราวนี้วาดภาพให้หมู่บ้านเป็นต้นตอของทุกสิ่งที่เลวร้าย ในทำนองเดียวกันกับที่ปรากฏในภาพเขียนแนว mooi indie [อินดีสอันงดงาม] หมู่บ้านถูกนำเสนอในภาพของพุ่มไม้มืดๆ หรือที่มีพลังชั่วร้ายซุ่มซ่อนแฝงตัวอยู่ ความหมายเชิงลบนี้ถูกสร้างขึ้นมาภายใต้ทัศนะของเจ้าหน้าที่อาณานิคมที่มีต่อกลุ่มคนพื้นเมืองที่ไม่ใช่คนผิวขาวในดินแดนอาณานิคม ผลก็คือ หมู่บ้านกลายเป็นสิ่งซึ่งนิยามได้ลำบาก เนื่องเพราะการไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่การปกครองทั่วไป แต่เป็นพื้นที่อยู่อาศัยที่ไม่เป็นทางการ ไม่มีแบบแผน กระจัดกระจายตัวออกไปทั้งในใจกลางเมืองและชานเมือง10.

“Tidak direken” (ไม่ถูกรับรู้), เป็นคำที่ชาวเบอตาวีใช้เพื่ออธิบายชะตากรรมของกัมปง จาการ์ตาทุ่มเงินมหาศาลเพื่อที่จะเปลี่ยนภาพลักษณ์จาก “หมู่บ้านขนาดใหญ่” ไปสู่มหานครนานาชาติอันทันสมัย ถึงกระนั้น ความพยายามที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ก็ไม่ได้แก้ปัญหายืดเยื้อเรื้อรังของความไม่ยั่งยืนในเมืองและการขาดความยืดหยุ่นทางสังคมและวัฒนธรรม มหานครจำเป็นจะต้องหันไปสนใจหมู่บ้าน เพื่อที่จะได้เห็นว่าเมืองนั้นแท้ที่จริงแล้วพึ่งพากัมปงในฐานะที่เป็นระบบกลไกสนับสนุนวิถีชีวิตประจำวันของผู้อยู่อาศัยในเมือง กัมปงคือบ้านของ babu (แม่บ้าน), jongos (คนรับใช้), คนขับรถม้า และในสมัยอาณานิคม ชู้รักหรือเมียลับต่างๆ ซึ่งอาจจะไม่ได้เปลี่ยนไปมากมายนักในทุกวันนี้ ถึงแม้ว่าคำศัพท์เหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดูนุ่มนวลขึ้น กลายเป็น “ผู้ช่วยงานในครัวเรือน” หรือ “พนักงานทำความสะอาด” หรือ เด็กออฟฟิศ เป็นต้น กัมปงคือระบบกลไกสนับสนุน เป็นแหล่งอุปทานของทุกสิ่งทุกอย่างจากคนทำงานในเมืองไปจนถึงการตระเตรียมอาหารในครัวสำหรับร้านอาหารแผงลอยราคาถูกที่อยู่รายรอบละแวกย่านธุรกิจที่เต็มไปด้วยตึกสูงของบริษัทข้ามชาติในจาการ์ตา
ยิ่งไปกว่านั้น และยิ่งสำคัญเข้าไปใหญ่ นอกจากการรักษาการดำรงอยู่ของกัมปงในฐานะแหล่งธำรงคุณค่าที่สำคัญ ยังหมายถึงการธำรงกัมปงในฐานะยาต้านโรคร้ายของสังคมเมืองอย่างความละโมบในเงินตราและพื้นที่ จาการ์ตาเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในรายนามบรรดามหานครขนาดใหญ่ที่เผชิญกับวิกฤตสิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอันรุนแรง ความขัดแย้งทางสังคมซ้ำซาก และสิ่งซึ่งย้อนแย้งอย่างมากอีกประการก็คือ ผู้นำหรือผู้มีอำนาจดูจะขาดความตระหนักว่าวิกฤตการณ์สามารถนำพาสิ่งซึ่งเคยเป็นแรงขับดันให้เกิดการแสวงหาภาวะของการฟื้นคืนและความอยู่รอดได้ ข้อเท็จจริงอันนี้ขัดแย้งกับรายการของโครงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เชิงยุทธศาสตร์ระดับชาติ 6 โครงการ ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2556 ด้วยงบประมาณกว่า 442 พันล้าน รูเปียห์ โครงการที่สร้างถนนทางด่วน 6 สายและโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (Mass Rapid Transit; MRT) ซึ่งจะเดินทางไปถึงย่านชานเมืองที่ไกลที่สุดของจาการ์ตาได้ ก็ยิ่งจะเป็นการถ่างขยายและทำให้ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงย่านเมืองเชิงชนชั้นปรากฏชัดเจนและเข้มข้นขึ้น ปัญหาซึ่งมักจะตามติดมาด้วยการเพิ่มทวีของความขัดแย้งทางสังคมและภัยพิบัติทางนิเวศวิทยา

โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่ดำเนินการโดยรัฐบาล ตลอดจนจดหมายจากผู้อ่าน ทั้งจาก ปูจีและจดหมายตอบจากฟิรดาวส์ (โดยที่ทั้งสองคนต่างก็พูดในฐานะปุถุชนที่อาศัยในเมือง) ให้ภาพที่สำคัญซึ่งขับเน้นนัยสำคัญของการเปิดเผยข้อค้นพบว่าด้วยระบบความรู้แบบท้องถิ่นที่มีรากฐานจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ระบบความรู้ซึ่งสามารถเสริมกันกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ได้ ถึงอย่างนั้นมุมมองเหล่านี้ก็ยังห่างไกลจากความเป็นกระแสหลัก แต่ถึงแม้ว่าจะยังคงอยู่ในตำแหน่งที่เป็นส่วนน้อย มันก็ไม่ได้หมายความว่าวิธีคิดครอบงำที่เน้นความสำคัญของโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่จะไม่เปิดโอกาสให้กรอบคิดหรือวาทกรรมแบบอื่นก่อตัวขึ้นมาได้ ตั้งแต่ปี 2553 ขบวนการเคลื่อนไหวว่าด้วยการฟื้นฟูกัมปงได้รับแรงเหวี่ยงตามไปด้วย มีความสนใจที่จะกลับไปค้นคว้าแหล่งข้อมูลว่าด้วยความรู้ท้องถิ่นและธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม พร้อมกันนั้นยังรวมไปถึงการอาศัยความรู้ใหม่ๆ ทางวิศวกรรมในการตรวจสอบความรู้เชิงจารีตต่างๆ ที่มีอยู่ในกัมปง นี่จึงเป็นหนทางและทางเลือกในการต่อรองกับการครอบงำของทุน ดังนั้น สำหรับจาการ์ตาเป็นการเฉพาะและอินโดนีเซียในภาพรวม จึงจะสามารถหลีกหนีอันตรายที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ได้

ในการให้ความสนใจและสะท้อนย้อนคิดต่อเรื่องราวว่าด้วยหลุมศพท้ายๆ ในสนามหญ้าของชาวเบอตาวีสามารถเป็นจุดเริ่มต้นในการต่อรองเชิงยุทธวิธีต่อการพัฒนาแบบทุนนิยม ไม่ว่าจะโดยผู้คนที่ยังอาศัยอยู่ในกัมปงในเขตเมืองชั้นใน หรือโดยผู้คนที่อาศัยอยู่ไกลออกไปในบริเวณชานเมือง ผู้ที่สามารถรอดพ้นจากระเบียบของทุนนิยมโลกและความเป็นมหานครของมัน หรือแม้แต่โดยหลุมศพในสนามหญ้า ซึ่งยังคงดำรงอยู่ในฐานะที่เป็นจารีตประเพณีในพื้นที่ใหม่ๆ ของชานเมืองจาการ์ตาที่สร้างขึ้นโดยลูกหลานคนรุ่นหลังของชุมชนที่ถูกกีดกันผลักดันออกไปในสมัยอาลี ซาดีกิน ชุมชนซึ่งปฏิเสธความพ่ายแพ้และการล่มสลายหรือความตาย

บางทีผู้คนผู้อยู่อาศัยเหล่านี้อาจไม่ได้รู้ความหมายในการลงไม้ลงมือต่อต้านอย่างถ่องแท้ พวกเขาอาจเพียงแต่พยายามธำรงรักษาจารีตประเพณีไว้เท่านั้น แต่ในอีกระดับหนึ่ง ในระดับโลก เมื่อพื้นที่ส่วนใหญ่ต่างก็โอบรับทุนนิยมโลก หลุมศพในสนามหญ้าคือสัญญะหนึ่งท่ามกลางหลายๆ อย่างที่แสดงออกอย่างเด่นชัดถึงความเฉพาะเจาะจงของกัมปงในจาการ์ตา แม้ว่าจะถูกคุกคามกระทั่งแทบจะสูญสิ้นไป มันก็เป็นเรื่องชัดเจนว่าหลุมศพในสนามหญ้าเหล่านี้เป็นสารซึ่งเข้ารหัสไว้สำหรับนักผังเมือง นักวิจัยเชิงพื้นที่ ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ และหากพวกเขาเหล่านั้นสามารถอ่านสัญญะเหล่านี้ได้ พวกเขาอาจพบหนทางที่ถูกต้องเหมาะสมสำหรับการวางผังเมืองในอนาคต ทิศทางซึ่งไม่เพียงแต่แยกออกจากทางเดินเล็กๆ และตรอกซอกซอยแคบๆ ของกัมปง ที่ย้ายออกจากหมู่บ้านขนาดใหญ่เพื่อมุ่งสู่มหานครระดับโลกดังข้อวิจารณ์ก่อนหน้านี้ของเมอลานี บูดีอันตา แต่เป็นหนทางที่จะทำให้รู้ว่าจะต้องเรียนรู้ที่จะซึมซับเอาจิตวิญญาณของกัมปงและทำให้มันเป็นจิตวิญญาณของเมือง

 

เจเจ ริซาล (JJ Rizal) เป็นนักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ และผู้ก่อตั้ง Penerbit Komunitas Bambu สำนักพิมพ์ที่มุ่งเสนอเกี่ยวกับมนุษยศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม งานวิจัยของเขาให้ความสนใจในประวัติศาสตร์ของ บาตาเวีย-เบอตาวี-จาการ์ตา ซึ่งถูกตีพิมพ์อย่างแพร่หลายบนนิตยสาร MOESSON Het Indisch Maandblad (พ.ศ.2544-2549) ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ปี 2552 เขาได้รับรางวัล DKI Jakarta Governor Cultural Award ผลงานการเขียนเกี่ยวกับ Junghuhn ของเขาได้รับเลือกให้เป็น "The Best International 2010" โดยนิตยสาร National Geographic International จากกว่าร้อยบทความในนิตยสาร National Geographic นอกสหรัฐอเมริกากว่า 36 ฉบับ ในปี 2554 เขาได้รับรางวัล Jakarta Book Awards IKAPI (Indonesian Publisher Association) จาการ์ตา ซึ่งถูกพิจารณาให้เป็น "หนังสือที่ให้ความรู้และเปลี่ยนชีวิต" งานตีพิมพ์อื่น ๆ ของเขา เช่น Politik Kota Kita (พ.ศ.2549); Onze Ong: Onghokham dalam Kenangan (พ.ศ.2550); Sejarah yang Memihak: Mengenang Sartono Kartodirdjo (พ.ศ.2551) และ Raden Saleh: Anak Belanda, Mooi Indie dan Nasionalisme