วุฒ ชลานันต์

This Dam Belongs to The Neighbour: A Research Note

ผมได้เห็นแม่น้ำโขงครั้งแรกในปี 2540 ระหว่างการเดินทางไปเวียงจันทน์กับครอบครัว สะพานมิตรภาพไทย-ลาว ที่เพิ่งเปิดใช้งานเพียงไม่กี่ปีก่อนหน้านั้นทำให้การเดินทางระหว่างหนองคายและเวียงจันทน์กลายเป็นเรื่องง่ายในทันที ในขณะที่เราตื่นตากับความยิ่งใหญ่ของแม่น้ำโขงในปลายฤดูฝน ผมไม่รู้เลยว่านอกจากสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่นี้เหนือขึ้นไปในประเทศจีนเขื่อนแห่งแรกในระบบแม่น้ำนี้ได้ถูกสร้างขึ้นแล้ว

ผู้คนส่วนใหญ่อาจไม่ทราบว่าแม่น้ำโขงและแม่น้ำล้านช้างคือแม่น้ำสายเดียวกัน ล้านช้างเป็นชื่อที่ชาวจีนเรียกแม่น้ำโขงตอนเหนือในเขตยูนนาน จากความยาวกว่า 4,300 กิโลเมตรของแม่น้ำสายนี้ มากกว่าครึ่งไหลผ่านประเทศจีน ก่อนที่จะไหลเข้าพม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม โดยมีต้นกำเนิดอยู่ลึกขึ้นไปบนที่ราบสูงทิเบต ขณะที่เขื่อนม่านวานที่ตั้งอยู่บนแม่น้ำล้านช้างแสดงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมออกมา ผู้คนได้เกิดความสับสนถึงสองชื่อที่ต่างกัน และได้ทราบว่าแม่น้ำดังกล่าวมีชื่อเรียกอีกชื่อในประเทศจีน ทำให้คนจำนวนไม่น้อยแปลกใจและตั้งคำถามถึงกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง รวมถึงออกมาเรียกร้องให้ประเทศจีนให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อนที่กระทบแม่น้ำโขง

แม้ว่าจะมีรายงานถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมออกมา ประเทศจีนยังคงเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำล้านช้างและแม่น้ำสาขา เนื่องจากโครงการระบบโรงไฟฟ้าพลังน้ำนี้จะเป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าหลักของประเทศจีนในการพยายามลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในปี 2563 มีเขื่อนทั้งหมด 11 แห่งเริ่มผลิตไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ จากเป้าหมายที่จะผลิตไฟฟ้าให้ได้ 63 กิกะวัตต์ และกักเก็บน้ำมากกว่า 130 พันล้านลูกบาศก์เมตรในภูมิภาคนี้ภายในปี 2573

ปี 2555 ได้มีการประท้วงในกรุงเทพต่อการสร้างเขื่อนไชยบุรีในทางตอนเหนือของประเทศลาว หลังจากที่บริษัท ช.การช่าง ได้ชนะประมูลสัญญาก่อสร้าง เหล่าผู้ประท้วงเรียกร้องให้ยุติการก่อสร้างเขื่อนไชยบุรี ซึ่งเป็นเขื่อนแห่งแรกบนสายน้ำหลักของแม่น้ำโขงตอนล่าง แม้จะมีการประท้วงแต่ผมก็มั่นใจว่าโครงการเขื่อนจะดำเนินต่อไป เพราะเงินลงทุนมากกว่า 4 พันล้านเหรียญสหรัฐโดยบริษัท ช.การช่าง หนึ่งในบริษัทก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เปรียบเทียบกับ GDP มูลค่า 7 พันล้านเหรียญสหรัฐของประเทศลาวในขณะนั้น การลงทุนในเขื่อนนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจปี 2548 ของรัฐบาลลาวภายใต้ชื่อ แบตเตอรี่แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ 9 แห่งบนแม่น้ำโขง จากการที่ลาวไม่มีศักยภาพทางการเงินเพียงพอที่จะลงทุนเอง รัฐบาลลาวจะมอบสัมปทานในการสร้างและบริหารเขื่อนให้บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุน

หมุดแม่น้ำ ที่สร้างจากเสาคอนกรีตโดยฝรั่งเศสเพื่อช่วยในการเดินเรือในยุคอาณานิคม

ถึงแม้ว่าเขื่อนไชยบุรีจะเป็นเขื่อนแห่งแรกบนแม่น้ำโขง ความพยายามในการควบคุมแม่น้ำแห่งนี้ย้อนหลังไปถึงปี 2408 เมื่อนักสำรวจชาวฝรั่งเศสพยายามหาเส้นทางการเดินเรือเพื่อเชื่อมต่ออินโดจีนเข้ากับยูนนาน อย่างไรก็ตามอุปสรรคจากแก่งหินและลำน้ำที่ไหลเชี่ยวทำให้การเดินเรือบนเส้นทางนี้ยากเกินไป ในปัจจุบันยังคงมีเสาคอนกรีตตั้งอยู่ในลำน้ำโขง โดยเสาเหล่านี้ถูกใช้เป็นหมุดร่องน้ำสำหรับการเดินเรือในยุคที่ลาวเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสระหว่างปี 2436 ถึง 2496 ต่อมาในพุทธทศวรรษ 2500 รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้เสนอแผนที่จะสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำบนลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจและต่อต้านการเติบโตของลัทธิคอมมิวนิสต์ แผนดังกล่าวถูกยกเลิกไปเนืองจากความไม่มั่นคงทางการเมืองในภูมิภาค

ภูเขาหิมะเหมยลี่ทางตอนเหนือของหุบเขายูเบง บริเวณต้นกำเนิดแม่น้ำโขง

เดือนธันวาคม พ.ศ. 2558 การเดินทางสู่ต้นกำเนิดแม่น้ำโขงของผมเริ่มต้นที่คุนหมิง การเดินทางกว่า 800 กิโลเมตรถูกแบ่งออกเป็นสองช่วง ช่วงแรกจากคุนหมิงถึงลี่เจียง เมืองใหญ่สุดท้ายก่อนเข้าเขตทิเบต ตามด้วยการนั่งรถบัส 7 ชั่วโมงบนถนนภูเขาที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ ระหว่างทางผมได้สังเกตถนนสายเก่า ที่ถูกทดแทนด้วยทางด่วนเฉียงลี่ ถนนภูเขาสายใหม่ที่มีอุโมงค์และสะพานทำให้การเดินทางสะดวกและรวดเร็วขึ้น เต๋อชิงเป็นหนึ่งในหมู่บ้านที่ดีมากสำหรับการเฝ้าสังเกตจุดเริ่มต้นของแม่น้ำโขงซึ่งอยู่ในเทือกเขาของภูเขาหิมะเหมยลี่

ช่วงวันหยุดสั้น ๆ จากการเรียนในปี 2561 ผมตัดสินใจที่จะขับรถไปไชยบุรี มันเป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจสำหรับผมเพราะเขื่อนไชยบุรีจะสร้างเสร็จและเริ่มต้นผลิตกระแสไฟฟ้าในเวลาน้อยกว่าหนึ่งปี การเปิดใช้งานเขื่อนแห่งนี้ถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญสำหรับการพัฒนาเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าบนลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่เป็นจุดที่ผมสนใจ ผมจึงเริ่มงานชุดนี้เพื่อค้นคว้าความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ เขื่อน และผู้คนบนแม่น้ำสายนี้

การเดินทางบนพื้นดินแทนการใช้เครื่องบินเปิดโอกาสให้ผมได้เชื่อมโยงชนบทของประเทศลาวและทิศทางการพัฒนาพื้นที่เหล่านี้ ถนนหมายเลข 4 อันขรุขระนำผมจากจุดผ่านแดนภูดู่สู่ไชยบุรี ใช้เวลาเกือบ 5 ชั่วโมงบนระยะทาง 200 กิโลเมตร ระหว่างทางเสาไฟฟ้าแรงสูงได้ถูกสร้างขึ้น เพื่อส่งออกกระแสไฟฟ้า 95 เปอร์เซ็นต์ ที่เขื่อนไชยบุรีผลิตได้กลับสู่ประเทศไทย การเตรียมพร้อมสำหรับโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่กำลังจะเปิดใช้งาน

เมืองไชยบุรีกับตัวเขื่อนถูกกันด้วยภูเขาเล็ก ๆ การเดินทางถึงเขื่อนไชยบุรีต้องอ้อมไปทางเหนือเป็นระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร โครงสร้างหลักของเขื่อนตั้งอยู่บนเนินเขาเรียบไปกับแม่น้ำโขง ขนาบด้วยที่พักคนงานและโรงเก็บเครื่องมือจำนวนมาก การสร้างเขื่อนไชยบุรีถูกแบ่งเป็นสองส่วน ซึ่งส่วนแรกประกอบไปด้วยประตูระบายน้ำและช่องทางยกเรือผ่านซึ่งสร้างเสร็จแล้ว ส่วนที่สองของการก่อสร้างจะประกอบด้วยตัวโรงไฟฟ้าและสะพานปลา ในส่วนนี้มีความคืบหน้ามากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ และได้เริ่มมีการรื้อถอนเขื่อนดินชั่วคราวแล้ว

สะพานปลาของเขื่อนไชยบุรี ซึ่งออกแบบมาเพื่อให้ปลาสามารถอพยพผ่านเขื่อน และลดผลกระทบทางระบบนิเวศน์ โครงสร้างเกือบทั้งหมดจะจมอยู่ใต้น้ำเมื่อเขื่อนดินชั่วคราวที่กั้นน้ำระหว่างการก่อสร้างเขื่อนถูกรื้อถอนออกไป

เมืองหินในโครงการก่อสร้างเขื่อน ผลิตหินที่มีคุณภาพสูงมากส่งผลให้คอนกรีตจากโครงการนี้ชนะรางวัลคุณภาพคอนกรีตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากหินแล้ววัสดุก่อสร้างที่เหลือเกือบทั้งหมดถูกนำเข้ามาจากประเทศไทย ระหว่างทางมาที่ไชยบุรี ผมได้ขับรถผ่านขบวนรถบรรทุกจากประเทศไทยซึ่งประกอบไปด้วยรถบรรทุกขนาดใหญ่ 8-12 คันอยู่เสมอ ในงานชุดนี้ผมได้เก็บตัวอย่างหินในพื้นที่ของเขื่อนมาเพื่อบันทึกการเปลี่ยนผ่านของทรัพยากรจากภูเขาหินสู่กำแพงอันยิ่งใหญ่ของเขื่อนบนแม่น้ำโขง

ในปี 2562 เขื่อนเริ่มกักเก็บน้ำและเริ่มต้นผลิตกระแสไฟฟ้า เนินเขาที่เคยเต็มไปด้วยแคมป์คนงานถูกรื้อถอนออก ในช่วงปีที่ผ่านมา ในช่วงที่มีการก่อสร้างโครงการแห่งนี้มีคนงานมากกว่า 10,000 คนอาศัยและทำงานอยู่ในโครงการนี้ เปรียบเทียบกับประชากรของไชยบุรีที่มีราว 16,000 คน โครงการก่อสร้างเขื่อนนี้เปรียบเสมือนเมืองขนาดเล็กในตัวมันเอง แคมป์คนงานที่ถูกรื้อถอนออกไปทำให้ผมนึกถึงการสัมภาษณ์ผู้จัดการโครงการด้านสิ่งแวดล้อมเมื่อปี 2561 “ตอนที่โครงการเริ่มต้น ต้นไม้ทั้งหมดถูกจดบันทึกก่อนที่จะถูกตัด และจะถูกปลูกคืนเมื่อโครงการก่อสร้างสิ้นสุดลง” บางทีกระบวนปรับภูมิทัศน์อาจไม่เพียงแต่เก็บกวาดร่องรอยของการก่อสร้างแต่ยังลบเรื่องราวของคนนับพันที่ทำงานสร้างเขื่อนและอาศัยอยู่ที่นี่

เนินเขาริมแม่น้ำโขงซึ่งแคมป์คนงานถูกรื้อถอนออกไป บริษัทผู้สร้างเขื่อนเตรียมการปลูกป่าบนพื้นที่เหล่านี้

ในปี 2561 ผมได้พบบุญศรี ชายอัธยาศัยดีในวัย 40 ปีที่หมู่บ้านสำหรับการตั้งถิ่นฐานใหม่ บนชายฝั่งของแม่น้ำขาน หนึ่งในแม่น้ำสาขาหลักของแม่น้ำโขง มีหมู่บ้านลักษณะเดี่ยวกันนี้ถูกสร้างขึ้นสำหรับชาวบ้าน ที่หมู่บ้านของพวกเขาได้รับผลกระทบจากอ่างเก็บน้ำของเขื่อน บุญศรีอาจนับได้ว่าเป็นหนึ่งในคนที่โชคดีกว่าอีกหลายครอบครัว จากการที่เขาสามารถปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงได้ จากการทำงานเป็นตำรวจบ้าน เขาและครอบครัวย้ายมาจากหมู่บ้านทางตอนเหนือของแม่น้ำขาน และยังชีพด้วยการปลูกข้าว พวกเขาย้ายเข้ามาในหมู่บ้านแห่งใหม่เมื่อ 3 ปีก่อนและได้รับบ้านครึ่งไม้ครึ่งปูนจากรัฐ บ้านเกือบทุกหลังในหมู่บ้านนี้เกือบจะเหมือนกัน บุญศรีบอกผมว่าช่างสำรวจของรัฐบาลได้เดินทางไปที่หมู่บ้านเดิมของพวกเขาและบันทึกลักษณะและสภาพของบ้านเดิมพวกเขา เพื่อสร้างบ้านแห่งใหม่ให้ผู้ย้ายถิ่นฐานโดยอ้างอิงจากสภาพเดิมของบ้านพวกเขา เพื่อที่รัฐบาลจะได้ประหยัดงบประมาณจากการตัดส่วนประกอบบ้างอย่างของบ้านที่ถูกสร้างขึ้นอย่างง่าย ๆ นี้ออกไป นี่เป็นเหตุผลที่บ้านบางหลังไม่มีชั้นหนึ่งเช่นเดี่ยวกับหลังอื่น ๆ ภรรยาของบุญศรีเปิดร้านขายของชำในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงกับการหาอาหารจากแม่น้ำ แม้ว่าในหมู่บ้านแห่งใหม่จะมีโรงเรียน ไฟฟ้า และระบบสาธารณูปโภคที่ดีกว่า ชาวบ้านยังคงถูกทิ้งให้เข้ามาอาศัยโดยปราศจากการเข้าถึงแหล่งหาปลาและที่ดินทำกิน ชาวบ้านหลายคนไม่ได้โชคดีเหมือนบุญศรีและต้องเดินทางกลับไปยังพื้นที่ดินผืนเก่าเพื่อทำนาและเลี้ยงครอบครัว ในตอนจบของบทสนทนากับบุญศรีผมถ่ายภาพครอบครัวและเพื่อนของเขา และผมได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากการเดินทางกลับไปที่หมู่บ้านเพื่อน้ำภาพไปมอบให้กับบุญศรีและชาวบ้าน

ครอบครัวของบุญศรีกำลังดูภาพครอบครัวและส่งต่อไปรอบโต๊ะอาหาร และภาพบ้านระดับพื้นฐานที่สุดในหมู่บ้านผู้ย้ายถิ่นฐาน
ตัวอย่างของบ้านใหม่ในเขตเมืองไชยบุรีแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมจากต่างประเทศ และการเติบโตของเศรษฐกิจซึ่งเอื้อให้ประชาชนจำนวนหนึ่งสะสมความมั่งคั่งและบ้านเหล่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงออกนั้น

ถึงแม้ว่าตัวเมืองไชยบุรีจะดูเงียบสงบ บ้านและอาหารใหม่จำนวนมากถูกสร้างขึ้นทั่วเมืองแห่งนี้ ผู้คนต้องการแสดงออกถึงความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นของพวกเขาผ่านบ้านสีสดใสถูกตกแต่งด้วยเสาโรมัน ห่างไกลกับบ้านไม้ยกสูงแบบดั้งเดิมของลาว บ้านคนรวยเหล่านี้มีลักษณะคล้ายกับบ้านคนยูนนาน เศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นอย่างฉับพลัน ทำให้ผู้คนตอบรับอิทธิพลภายนอกเข้ามาอย่างรวดเร็ว เสมือนเป็นการแสดงออกถึงฐานะทางสังคม เจ้าหน้าที่รัฐคนหนึ่งที่เพิ่งย้ายเข้ามาในบ้านหลังใหม่กล่าวกับผมว่า เศรษฐกิจกำลังเติบโตและเขาดีใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น

บ้านพักในไชยบุรีระหว่างการสร้างเขื่อน สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 เขตคือ แคมป์คนงาน หมู่บ้านผู้ย้ายถิ่นฐาน และตัวเมืองไชยบุรี เป็นที่น่าสนใจว่าเขตที่พักอาศัยทั้งสามเขต สามารถสะท้อนว่าการสร้างเขื่อนได้ส่งผลต่อผู้คนได้หลายทาง จากแคมป์ชั่วคราวของคนงานที่ไม่มีหน้าที่อีกแล้ว ไปจนถึงบ้านใหม่ในเมืองไชยบุรี ประชาชนในลุ่มแม่น้ำโขงยังคงต้องประสบกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจจากระบบนิเวศน์ที่เปลี่ยนไป และชาวบ้านที่ถูกย้ายมาอยู่ในหมู่บ้านแห่งใหม่ดูเหมือนว่าจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความเปราะบางทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ

ผมไม่ต้องการจะบอกว่าเขื่อนดีหรือเลวร้าย จากการที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงกระหายพลังงานไฟฟ้า การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ การสื่อสารระหว่างพื้นที่ เขื่อน และชุมชนที่ได้รับเป็นกระทบเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ในฐานะศิลปินผมต้องการส่งการรับรู้ถึงปัญหาข้ามเขตแดนบนลุ่มแม่น้ำโขง เราจำเป็นต้องตระหนักว่าการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าสำหรับตอบสนองวิถีชีวิตของเรา ต้องใช้เงินทุน ทรัพยากร และแรงงานจำนวนมหาศาล ซึ่งมันตามมาด้วยความเปลี่ยนแปลงที่ต้องการและไม่ต้องการ

 

วุฒ ชลานันต์ (Wut Chalanant) ศิลปินและนักถ่ายภาพอาศัยอยู่จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย สุนทรียะของเขาเกี่ยวโยงกับแนวคิดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และพื้นที่ในยุคสมัยใหม่ งานภาพถ่ายของเขาตั้งอยู่บนความสนใจในคตินิยมแห่งการพัฒนาความเป็นเมือง อย่าง ที่ดินสามารถเปลี่ยนรูปได้อย่างไรบ้างท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของความต้องการในเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นการถ่างช่องว่างในบริบทดังกล่าวออกเพื่อให้เกิดการตีความความจริงใหม่ ๆ วุฒจบการศึกษาจาก Hochschule für Grafik und Buchkunst (Academy of Fine Arts Leipzig), ไลพ์ซิก, เยอรมันนี เขาได้แสดงในนิทรรศการ Southeast X Southeast, Southeast Museum of Photography, เดโทนาบีช, สหรัฐอเมริกา (พ.ศ.2561) และ most of the wild – least of the wild, Hochschule für Grafik und Buchkunst (Academy of Fine Arts Leipzig), ไลพ์ซิก, เยอรมันนี (พ.ศ.2561)