เดอะ ฟอเรส เคอริคูลัม

การเนรมิตเมืองบนป่า

อภิจัน โตโต (Abhijan Toto) และ ปูจิตา กุฮา (Pujita Guha) สำหรับ เดอะ ฟอเรส เคอริคูลัม (The Forest Curriculum)

 

1. เกริ่นนำ

“Forest City” คืออภิมหาโครงการเมืองใหม่อัจฉริยะบนชายฝั่งยะโฮร์ (Johor) ประเทศมาเลเซีย โดยเป็นโครงการร่วมทุนระหว่าง Country Garden Group บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จากประเทศจีน กับบริษัท Esplanade Danga 88 Sdn Bhd (EDSB)1 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลมาเลเซีย และบริษัท Country Garden Pacificview  “Forest City” ตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษอิสกันดาร์ (Iskandar) บนแหลมของช่องแคบยะโฮร์ที่เชื่อมระหว่างประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย โครงการเมืองใหม่นี้มีเป้าหมายเพื่อดึงดูดชาวสิงคโปร์ที่สามารถจับจองเป็นเจ้าของสินทรัพย์หรือสามารถขับรถมาพักผ่อนในช่วงสุดสัปดาห์ นักลงทุนชาวจีนที่ต้องการแสวงหาสินทรัพย์นอกประเทศจีน และชาวมาเลเซียที่ทำธุรกิจพิเศษ เช่น อสังหาริมทรัพย์ นำ้มัน และน้ำมันปาล์ม

โครงการดังกล่าวสร้างอยู่บนเกาะที่เชื่อมกันทั้งหมด 4 เกาะ ครอบคลุมพื้นที่ 30 ตารางกิโลเมตรบนใจกลางของกลุ่มประเทศอาเซียน อันถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญจากมุมมองนานาชาติที่สามารถเชื่อมโยงกับ 15 ประเทศ APEC และสามารถเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียนได้ด้วยเครือข่ายสายการบินในภูมิภาค ระยะเวลาการบินระหว่างจีน (หรืออินเดีย) จาก Forest City ใช้เวลา 6 หกชั่วโมง โครงการยังดึงดูดสื่อมวลชนด้วยความต่างสุดขั้วระหว่างคำว่า “ป่า” และ “เมือง” ทั้งยังนำเสนอความเป็นเมืองอัจฉริยะแห่งอนาคตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการปลูกต้นไม้และมีพุ่มไม้ที่แทรกอยู่ในระหว่างตึกคอนกรีต ภาพลักษณ์ของ Forest City จึงดูละม้ายคล้ายคลึงกับสวนลอยของพระเจ้าเนบูคัดเนซซาร์ (Nebuchadnezzar) [หรือ สวนลอยบาบิโลน; ผู้แปล]

การสร้างเมืองนี้อยู่ภายใต้การออกแบบให้เป็นป่าเขตร้อน การใช้คำว่า “สีเขียว” ใน Forest City จึงมีความหมายทั้งในเชิงวัตถุและในเชิงเปรียบเทียบ ในเชิงวัตถุ หมายถึงการที่ทุกนิ้วของภูมิทัศน์ของเมืองถูกปกคลุมไปด้วยพืชนานาชนิด และในเชิงเปรียบเทียบหมายถึงการทำให้เมืองมีความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutral) เมืองถูกขับเคลื่อนด้วยวิธีคิดในการวางแผนเมืองให้ซ้อนทับกันเป็นชั้น ๆ พื้นที่จอดรถถูกซ่อนอยู่ใต้ดินซึ่งเป็นชั้นล่างสุด ในขณะที่พื้นที่ด้านบนสุดคือพื้นที่ของระบบรถไฟฟ้ารางเบาที่ทำให้พื้นที่สาธารณะปลอดรถยนต์ เช่นเดียวกับเรื่องราวของการอ้างถึงสิ่งแวดล้อมอีกเป็นล้าน ๆ เรื่อง ภายใต้ประเด็นเรื่องความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สิ่งที่ซ่อนอยู่ในโครงการ “Forest City” คือระบบทุนนิยมที่ฉวยใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง มูลค่าของการสร้างระบบขนส่งสาธารณะนี้สร้างขึ้นมาจากเหล็ก โครเมียม ไม้ ไฟจากถ่านหิน และการบีบบังคับแรงงาน

เป็นไปได้หรือไม่ที่การมีเมืองสีเขียวจะไม่มาพร้อมด้วยการใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลืองหรือมีเบื้องหลังที่ซ่อนอยู่ ยิ่งมีการอ้างถึงความเป็นอัจฉริยะของเมืองมากขึ้นเท่าไรก็ยิ่งหมายถึงความพยายามในการจัดการข้อมูล ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของการใช้แรงงานในระบบ ด้วยการวิเคราะห์ตามเวลาจริงอย่างทันทีทันใดของระบบขนส่งสาธารณะและการมีระบบตรวจตราพื้นที่สาธารณะตลอดเวลา เมืองอัฉริยะในตัวเองจึงเป็นประวัติศาสตร์ของการควบคุมและทำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ในกรณีของ Forest City ที่อำพรางภูมิทัศน์ของระบบเซ็นเซอร์ การแสดงผล และการวิเคราะห์ข้อมูลให้อยู่ภายใต้ยอดไม้ พุ่มไม้ ตลอดจนความเป็นภูมิทัศน์เขตร้อน2

อภิมหาโครงการสร้างเมืองอย่าง Forest City กลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้เราคิดถึงโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบราง ระบบท่อ ระบบสื่อสารด้วยเส้นใยแก้วนำแสงหรือไฟเบอร์ออปติก (fibre optic) ถนน และการขนส่งด้วยรถบรรทุกอันเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนมนุษยชาติ3 ท่ามกลางการขยายตัวของเทคโนโลยี ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เรารับรู้ได้ในชีวิตประจำวันคือสภาพแวดล้อม กล่าวคือ โครงสร้างพื้นฐานไม่เพียงกำกับหรือควบคุมสภาพแวดล้อมของเรา หากยังแทรกซึมอยู่ในทุก ๆ การดำเนินชีวิตและมักจะอยู่ห่างออกจากจิตใต้สำนึกของเรา เรื่องราวของ Forest City เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานและอภิมหาโครงการที่ไม่ได้เพียงเล่าถึงการเจริญเติบโต มูลค่า และการสะสมทรัพย์สิน หากยังรวมไปถึงเรื่องราวของเอกสารที่หายไป การฟื้นฟูที่ผิดพลาด การติดหล่มทั้งทางด้านธุรกิจและการเมือง (หรืออาจจะเรียกว่าเป็นการทุจริตก็ว่าได้) ประวัติศาสตร์ของการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และวิธีการที่ทุนทำลายโลกที่นี่และที่อื่น ๆ เรื่องเล่าหรือคำอธิบายเหล่านี้จึงไม่ได้เป็นคำสัญญาแต่เป็นการทำลายตั้งแต่ที่มาและจุดเริ่มต้นของโครงการ4

 

2. การเมือง บน/ใต้พื้นดิน?

เมืองที่สร้างบนป่าจะมีลักษณะอย่างไร?
ไม่ใช่ “ใน” แต่เป็น “บน”
คำบุพบทเหล่านี้ช่วยย้ำเตือนให้เราเห็นถึงตำแหน่งแห่งที่และความหมายที่ซ่อนอยู่ในภาษา

หนึ่งในคำที่แปลกที่สุดของสำนวนภาษาที่ใช้เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานคือคำว่า “การแปรสภาพ” (reclamation) การแปรสภาพไม่เพียงหมายถึงการปรับปรุงฟื้นฟูที่ดินที่ไร้ประโยชน์ให้มีมูลค่ามักใช้กับทรัพยากร เช่น น้ำ แรงงาน และอื่น ๆ แต่ยังสื่อความหมายถึงการได้มาซึ่งมูลค่าทางวัฒนธรรมหรือความรุ่งโรจน์5  นอกจากนี้ การฟื้นฟูยังสื่อถึงความมีอำนาจ  อันเป็นความหมายในตัวเองของคำว่า “re-claim” ซึ่งหมายถึงการอ้างสิทธิอีกครั้งหนึ่ง

Forest City สัมพันธ์กับการอ้างถึงการฟื้นฟูหลายประการ ทั้งกับมาเลเซีย สิงคโปร์ จีน ฮ่องกงที่ต่างเข้ามายืนยันสิทธิในพื้นที่ทั้ง 4 เกาะ กระนั้นภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitic) เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับภูมิศาสตร์ในตัวเอง โครงการนี้จะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจหรือไม่ ถ้าไม่ได้ตั้งอยู่ริมทะเล ถ้าไม่ไ่ด้ข้องเกี่ยวกับการค้าขายทางทะเล การขนส่งทางเรือ ท่าเรือ และสิงคโปร์ มูลค่าของ Forest City มาจากสถานที่ตั้งที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ส่งผลให้สามารถแปรสภาพที่ดินได้ แม้ว่ายะโฮร์ยังมีผืนแผ่นดินที่ติดกับทะเลจำนวนมากที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ แต่การแปรสภาพนี้ได้ขยายพื้นที่ใหม่ไปในทะเลและเพิ่มมูลค่ามากขึ้นได้เนื่องจากย่นระยะทางให้ใกล้กับสิงคโปร์มากขึ้น มูลค่าทางภูมิรัฐศาสตร์ของ Forest City จึงมาจากวิศวกรรมธรณี (geo-engineering) ที่ดัดแปลงและจัดการกับโครงสร้างทางธรณีวิทยาในบริเวณนั้น

การแปรสภาพโดยส่วนมากมักหมายถึงปฏิบัติการของการปลูกถ่ายที่ดิน ซึ่งส่วนมากคือ วิศวกรรมของมนุษย์ที่เข้าไปจัดการที่ดินทั้ง ที่/โดย/ใน/จาก ทะเล  การแปรสภาพก็กลายเป็นคำทำนายของสิ่งที่ก่อสร้างใหม่บนพื้นที่ทางธรณีวิทยาและกลายเป็นพื้นที่ใหม่สำหรับที่อยู่อาศัยและการพักผ่อนหย่อนใจ ตำแหน่งแห่งใหม่ ระยะประชิดใหม่ การตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ยื่นขยายออกจากไปจากที่ดินเก่า6 กล่าวคือ การแปรสภาพเป็นพื้นที่ของการสร้างโลกของการเก็งกำไรที่ผูกอยู่กับทุน

เราควรตั้งชื่อทางเทคนิคให้กับการสร้างโลกที่หมายถึงการแปรสภาพที่ดินว่าอย่างไร?
การแกะ การก่อรูป การพิมพ์ การพิมพ์
คำเหล่านี้ล้วนแต่สื่อให้เห็นถึงการแปรสภาพ ขณะที่เราสร้างและปรับแต่งที่ดินตามความตั้งใจของเรา เราควรจำด้วยว่าการแปรสภาพบ่อยครั้งเป็นการแต่งแต้มสิ่งต่าง ๆ ลงบนความว่างเปล่า (tabula rasa) ไม่ว่าจะเป็นกระดาษ ที่ดิน หรือผ้าใบให้เป็นไปตามสิ่งที่ต้องการจะก่อสร้างให้เป็น

แต่สิ่งที่การแปรสภาพซ่อนอยู่ในความหมายที่ใกล้เคียงกันคือ คำว่า “การจัดสรรปันส่วนใหม่” (redistribution) การจัดสรรปันส่วนใหม่ หมายถึง การปรับเปลี่ยนที่จำเป็นตามความต้องการ หรือการวางตำแหน่งตามจุดและความหนาแน่น  สำหรับโครงการ “เส้นทางสายไหมใหม่” หรือ “เส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21”  (Belt and Road Initiative;  BRI) ของประเทศจีน คือการจัดจัดสรรปันส่วนทรายตามเครือข่ายการขนส่งทรายด้วยรถบรรทุกปริมาณมากจาก Teluk Ramunia (ระยะห่าง150 กิโลเมตรจากทะเล) เพื่อสร้างเกาะสีเขียวขึ้นมาใหม่นี้7

ทรายเหล่านี้ถูกทิ้งลงไปโคลนตมของท้องทะเลอันเปราะบาง ถ้าคำว่า “ทิ้ง” สื่อถึงความรุนแรงมากไปเราอาจใช้คำว่า “บังคับเทลงไป” แทนในคำว่า “ทิ้ง” มีความหมายที่ชัดเจนซึ่งสื่อถึงการกระทำ พลังงาน และการปฏิเสธที่ตั้งถิ่นฐาน กว่าที่ทรายจะรวมตัวกันและมั่นคงนั้นต้องใช้ทั้งเวลาและน้ำหนักกดทับจากด้านบนที่จะช่วยอัดให้เป็นก้อนได้ หลังจากนั้นก็ต้องใช้เวลาในการสังเกตว่าจะมีการรั่วซึมหรือทรุดได้ กระบวนการดังกล่าวนี้ต้องใช้ระยะเวลาอันยาวนาน อาจจะทำให้โครงการล่าช้าหรือถูกเลื่อนออกไปและส่งผลกระทบให้การลงทุนล่าช้าออกไปด้วยเช่นกัน บริษัท Country Garden Group ซึ่งรับผิดชอบการโครงการ Forest City เป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงโด่งดังมายาวนานในเรื่องของการตรงต่อเวลาหรือแม้กระทั่งสามารถทำงานเสร็จก่อนเวลาได้ แต่มีข้อกังขาเรื่องความปลอดภัยพ่วงมาด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการก่อสร้างที่ต้องใช้เวลานานกว่าที่จะมั่นคงแข็งแรงอย่างการใช้ทราย ในช่วงต้นปี 2014 มีรอยร้าวปรากฏขึ้นที่บริเวณแกลเลอรี่ตัวอย่างและอาคารโรงแรมของโครงการ ซึ่งน่าจะแสดงให้เห็นถึงการที่รากฐานหรือพื้นด้านล่างนั้นยังไม่แข็งแรงหรืออาจจะยังไม่เกาะตัวแน่นทันเวลา8รอยร้าวนี้แม้ว่าจะไม่รุนแรง แต่มันเกิดขึ้นในที่นั่นที่นี่จนกระทั่งทำให้การก่อสร้างชะงักไประยะหนึ่ง ทั้งยังส่งผลให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกไม่มั่นใจด้วยเช่นกัน กระนั้นเมื่อเวลาผ่านไป รอยร้าวก็ถูกลืม เมื่อทรายถูกทิ้งมากขึ้น ทะเลได้รับการแปรสภาพมากขึ้น และพื้นดินก็กลายเป็นคอนกรีตมากขึ้น

 

3. ปลักโคลนทางการเมือง

หลังจากที่โครงการก่อสร้าง Forest City เริ่มอย่างเต็มกำลัง สิงคโปร์ได้เรียกร้องว่ารัฐบาลยะโฮร์นั้นเพิกเฉยต่อการทำลายสิ่งแวดล้อมในหลาย ๆ ประเด็น9 ดังที่เรารู้กันว่าประวัติศาสร์ของอภิมหาโครงการการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน รายงานของโครงการและวิธีการจัดการที่ดินนั้นก็จะถูกปรับจูน/ดัดแปลง/ทำให้เหมาะสมกับโครงการ10 อันเป็นส่วนหนึ่งของโลกแห่งการจัดการเอกสารให้เป็นไปตามต้องการ

รายงานปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมจากต่างประเทศเกี่ยวกับ Forest City ระบุว่าโครงการไม่เพียงแปรสภาพที่ดินแต่เป็นการจัดสรรปันส่วนแนวชายฝั่งทะเลใหม่ อันหมายถึงการที่โครงการก่อสร้างบน เหนือ และอยู่เคียงข้างไปกับทุ่งหญ้าทะเลริมชายฝั่ง Tanjung Kupang ซึ่งเท่ากับเป็นการเข้าไปปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์เขตน้ำตื้นชายฝั่งอันเขียวชอุ่ม11

บริเวณที่ตั้งของ Forest City ครั้งหนึ่งเคยเป็นทุ่งหญ้าทะเลมาก่อน ปัจจุบันพื้นที่นี้ปกคลุมไปด้วยทรายที่ถมขึ้นมาใหม่ ส่วนพื้นที่ข้างเคียงที่อยู่ถัดออกไปจากเกาะก็เต็มไปด้วยโคลน ปราศจากหญ้าทะเลที่จะช่วยควบคุมปริมาณออกซิเจนในน้ำทะเล สิ่งที่หลงเหลืออยู่คือแหล่งที่อยู่อาศัยของสาหร่ายขนาดใหญ่ (macroalgae) ซึ่งเจริญเติบโตแพร่พันธ์ุอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งทำให้ระดับออกซิเจนในน้ำทะเลไม่เพียงพอสำหรับพืชอื่น ๆ  สาหร่ายขนาดใหญ่ที่มีปริมาณมากเกินไปและยากที่จำกัดนี้ผลิตสีเขียวสดใสสำหรับตัวเองเท่านั้น สำหรับภูมิทัศน์ที่สร้างขึ้นมาใหม่อย่าง  Forest City อันมีลักษณะเดียวกันกับเมืองอัจฉริยะในที่อื่น ๆ ที่เอกสารหรือรายงานใด ๆ ที่แสดงถึงพื้นที่สีเขียวจะไม่กล่าวถึงลักษณะทางชีววิทยาเหล่านี้  ไม่ว่าจะเป็นสีเขียวที่พบในทุ่งหญ้าทะเล (ซึ่งเป็นที่ตั้งของ Forest City ในป่าชายเลน (ที่อยู่ข้างเคียง) และในสาหร่ายที่เติบโตอยู่ในโคลนตม สีเขียวเฉพาะเจาะจงนี้ดำรงอยู่ในทุก ๆ รูปแบบของประวัติศาสตร์ของความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งหมายถึงการฟอกเขียวของภูมิทัศน์ ดังเห็นได้จากภาพลักษณ์ของ Forest City ที่ปรากฏในใบปิดโฆษณา แบบจำลอง วิดีโอ 3 มิติ ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับความก้าวหน้า/เติบโตของเครื่องจักร ด้วยโลหะมันวาวสะท้อนแสง ผู้คนและพืชนานา ราวกับว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่ขึ้นสนิมหรือโรยราไป และราวกับว่าการเจริญเติบโตของสาหร่าย หญ้าทะเล และต้นโกงกางไม่เคยปรากฏท่ามกลางสิ่งเหล่านี้มาก่อน

การแปรสภาพที่ดินเป็นปลักโคลนทางการเมือง กระบวนการแปรสภาพในพื้นที่แห่งหนึ่งเป็นการผลิตสร้างที่ดินที่ไม่มีเจ้าของในที่อื่น เมื่อ Forest City บุกรุกเข้าไปใต้ท้องน้ำและฝากตะกอนเอาไว้ในน้ำทะเลนานวันเข้าอาจจะก่อให้เกิดเกาะใหม่ที่เกิดจากตะกอนเหล่านี้ ตะกอนสะสมอยู่ที่ดินที่ไม่สม่ำเสมอ ก่อตัวสะสมมากขึ้น กระนั้นตะกอนก็ยังคงเป็นตะกอน เรื่องราวเหล่านี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการพึ่งพิงกันและกันบนการสะสมที่ซ้อนทับกัน เฉกเช่นเดียวกันกับ/อุปมาเดียวกันกับเรื่องราวของโครงสร้างพื้นฐาน ท่าเรือ Tanjung Pelepas ที่สร้างบนการก่อตัวของตะกอนรอบ Forest City และประวัติศาสตร์อันเก่าแก่ของการปรับสภาพระบบนิเวศของบริเวณทุ่งหญ้าทะเล

 

4. ส่วนเกิน/ความล้นเกิน

ระหว่างปี 2560-2562 สำนักข่าวที่ดำเนินการโดยรัฐบาลกาต้าร์ อัลจาซีรา (Al Jazeera) ดำเนินการสืบสวนเกี่ยวกับการออกหนังสือเดินทางประเทศไซปรัสให้แก่ชาวต่างชาติ ภายใต้ข้อตกลงที่อนุญาตให้มหาเศรษฐีหลายพันหลายล้านถือครองความพลเมืองของยุโรปเพื่อแลกกับการลงทุนทางเศรษฐกิจในประเทศ อันส่งผลให้เกิดการจัดหาอสังหาริมทรัพย์มูลค่ามหาศาลริมชายฝั่ง Cypriot ให้กับชาวต่างชาติที่ถือหนังสือเดินทางของไซปรัส โครงการนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ในฐานะที่เป็นการ “ขาย” ความเป็นพลเมืองยุโรป แต่รัฐบาลไซปรัสปฏิเสธถึงความไม่โปรงใสนี้ ในช่วงเดียวกันนี้ ชาวต่างชาติหรือนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงหลายคนได้ถูกดำเนินการสอบสวน ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มผู้มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจการเมืองในรัสเซีย (Russian Oligarchs) นักธุรกิจเอเชีย นายธนาคารเวเนซุเอลา นักการเมืองและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นผู้ที่ได้รับการอนุมัติหนังสือเดินทางของไซปรัส หนึ่งในนี้คือ Yang Huiyan ทายาทของบริษัท Country Garden Holdings (บริษัทย่อยของบริษัท Country Garden Group) ทั้งยังเป็นผู้สนับสนุนโครงการ Forest City ใบสมัครของเธอที่ปรากฏบนเว็บไซต์ของสำนักข่าวอัลจาซีราหรือเป็นที่รู้จักกันว่าเอกสารของไซปรัส มีรายละเอียดดังนี้

杨惠妍
ปีเกิด: 1981
วันที่อนุมัติ: 23.10.2018
มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ: 27 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ
ประวัติ: นักธุรกิจหญิงพันล้านและผู้หญิงที่รวยที่สุดในเอเชีย Yang ถือครองหุ้นส่วนใหญ่ของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ Country Garden Holdings ซึ่งได้รับมาจาก Yeung Kwok Keung พ่อของเธอตั้งแต่ปี 2550 Yeung Kwok Keung ยังเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาการเมืองแห่งประชาชนจีน (Chinese People’s Political Consultative Conference: CPPCC) มีหน้าที่ในการปรึกษาทางการเมืองให้แก่รัฐบาลจีน
ผู้สมัครที่เกี่ยวข้อง: Chen Chong สามีของ Yang ซึ่งถือหนังสือเดินทางของไซปรัส และยังเป็นสมาชิกคณะกรรมการประจำมณฑลกวางตุ้ง ชุดที่ 12 แห่งสภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งประชาชนจีน

การถือครองความเป็นพลเมืองสองสัญชาติเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในจีนและมีผลให้ต้องสูญเสียความเป็นพลเมืองจีนทันที.”

รายงานเกี่ยวกับเรื่องไซปรัสเปิดเผยให้เห็นถึงสิ่งที่เรารู้อยู่แล้วว่าทุนมักจะผลิตมากเกินพอดี บางครั้งก็หมายถึงหนังสือเดินทางที่มากเกิน คนบางคนอาจจะสามารถถือครองหนังสือเดินทางได้มากมาย ในขณะที่แรงงานข้ามชาติโดยปราศจากเอกสารการเดินทางกลับไม่สามารถถือครองหนังสือเดินทางได้เพียงเล่มเดียวและดำรงชีวิตอย่างหมิ่นเหม่บริเวณชายขอบของรัฐ ทุนมักสร้างส่วนเกิน ไม่ว่าจะเป็นการสะสมความมั่งคั่ง บางครั้งแปรไปสู่โครงการโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างรัฐและการแปรสภาพพื้นที่ และบางครั้งสูบฉีดเข้าสู่วงจรของการคอร์รัปชั่น ทุนผลิตวงจรของโครงสร้างพื้นฐาน (โดยร่วมมือกับวงจรของการคอร์รัปชั่น) และเคลื่อนย้ายสู่ข้อตกลงเรื่องที่ดินและหนังสือเดินทาง

ในความเป็นจริง คอร์รัปชั่นขยายออกไปอย่างกว้างขวางไปสู่สิ่งที่อาจเป็นทั้งการเคลื่อนย้ายและวงจร หากไม่มีประวัติศาสตร์ของการคอร์รัปชั่นแล้ว เรื่องราวของ Forest City คงเป็นเพียงแค่เรื่องราวหนึ่งของชนชั้นนำมาเลเซีย สิงคโปร์ ยะโฮร์ และชาวจีนในกลุ่มประเทศอาเซียน แม้ว่าบางครั้งท้องถิ่นอาจเข้ามาแทรกแซงและขยายพื้นที่ในการคำนึงถึงสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่ไม่ใช่มนุษย์ ไปสู่หญ้าทะเล ป่าโกงกาง และการทับถมของตะกอน กระนั้นการคอร์รัปชั่นอาจจะทำงานแยกส่วนออกไป ไกลกว่าพื้นที่ตั้งของ Forest City จากภูมิทัศน์ของชายหาดที่ไซปรัส ข้างต้นปาล์มเขตร้อนแห่งอิสกันดาร์ มาเลเซีย และวนเวียนจากที่หนึ่งไปที่หนึ่ง ทุนและการคอร์รัปชั่นมักจะขยับขยายออกไปครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างที่มันเดินทางไปถึง เช่นเดียวกันกับป่าที่เผชิญชะตากรรมเดียวกัน

 

5. หลังจากรัฐ:

Forest City ถูกสร้างอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษอิสกันดาร์ ซึ่งมีชื่อเสียงในฐานะที่เป็นพื้นที่ยกเว้นด้วยเช่นกัน (Special Exceptional Zones; SEZ) และคงไม่เกินความจริงที่จะกล่าวว่าพื้นที่นี้มีสถานะยกเว้นเป็นพิเศษ โครงการนี้จึงมักจะผ่านข้อกำหนดของรัฐได้ทุกประการ อาจว่าได้ว่าโครงการนี้เป็นสิ่งที่มีอำนาจในตัวเองที่จะสามารถดำเนินการสิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง พื้นที่ยกเว้นนี้จึงเป็นพื้นที่พิเศษของรัฐ (ไม่ใช่พื้นที่สำหรับการปลดปล่อยในอุดมคติ) แต่เป็นพื้นที่ซึ่งประวัติศาสตร์แห่งการล่าได้ถูกประดิษฐ์ขึ้น รัฐผลิตตนเองซ้ำที่ชายชอบของสิ่งเหล่านี้ ที่ซึ่งร่างกายของมนุษย์ สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่ไม่ใช่มนุษย์ล้วนแต่กลายเป็นรัฐ พื้นที่ยกเว้นคือการเชื่อมต่อที่อยู่เหนือรัฐ ซึ่งถูกนำเข้ามารวมกันผ่านการถับทม จากแรงงานสู่เม็ดทราย ปลา และท่าเรือ และสิ่งที่อยู่ภายใต้รัฐก็ถูกผลักให้ห่างออกไปมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยกระบวนการเหล่านี้ ทุนได้กระจายจากเมืองฝอซาน (Foshan; เมืองอุตสาหกรรมที่สำคัญในบริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง ประเทศจีน, ผู้แปล) สู่นิโคเซีย (เมืองหลวงของประเทศไซปรัส, ผู้แปล) กระทั่งมาสู่ยะโฮร์ ในท้ายที่สุดได้กลายเป็นรัฐ ในที่นี้การกลายเป็น “รัฐ” ไม่ได้เป็นผลิตผลของเส้นพรมแดนหรือชายแดน หรือไม่ได้มาจากการผลิตข้อยกเว้น (ในบริเวณชายฝั่งและนอกพื้นที่ ซึ่งประมวลผลเป็นทุน) หากแต่เป็นความโยงใยของโครงสร้างพื้นฐานที่ผลิตขึ้นมา

การกล่าวถึงประเด็นเรื่องจำนวนนับไม่ถ้วนไม่ใช่เรื่องใหม่ แรงงานนิรนามชาวเอเชียใต้จำนวนมากที่ดำรงสถานะเลื่อนลอยจากรัฐ ผู้คนที่อยู่ในอาชีพต่าง ๆ จำนวนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร  ตัวแสดงที่เป็นรัฐ  แม้แต่ศิลปินก็เข้าร่วมแสดงออกถึงประเด็นดังกล่าวในรูปแบบการสื่อถึงความทุกข์ยาก (porno-miseria) และแบกแรงงานเหล่านี้ไว้ ภายใต้ตรรกะของการเก็บเกี่ยวส่วนเกินนี้ด้วยเช่นกัน มาเลเซียมีความสัมพันธ์กับประเด็นเหล่านี้อย่างเฉพาะเจาะจง ในประเด็นเรื่องความจำเป็นของการปรากฏของเรือนร่างไม่สามารถระบุสถานะได้ในการผลิตซ้ำของรัฐ สิ่งเหล่านี้ดำรงอยู่ภายใต้โครงสร้างพื้นฐานของการเดินทางทางทะเล ทั้งข้ามและไม่ข้ามพรมแดน หยาดเหงื่อเหล่านี้ปรากฏอยู่ในกำแพงชื้น หนังสือเดินทางปลอม และการปลอมแปลงเอกสาร

เพื่อทำความเข้าใจว่าการเนรมิตเมืองบนป่าหมายความว่าอย่างไร เราจึงต้องคลี่คลายสิ่งที่กลายมาเป็นรัฐ ที่ทับซ้อนกันหลายระดับ อาจกล่าวได้ว่า ลัทธิอาณานิคมแบบใหม่ (Neo-colonialism) คือโครงสร้างพื้นฐานที่ฉวยใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลืองในตัวเองเป็นสิ่งที่ทั้งยืนยันและปฏิเสธความเป็นรัฐ  โครงการเส้นทางสายไหมแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 21 กลายเป็นเงื่อนไขเฉพาะที่ซึ่งส่งผลกระทบให้กลไกของรัฐถูกกระตุ้นให้ขยายและปฏิเสธการตรวจสอบวิถีทางที่อำนาจ ความเป็นพลเมือง ลักษณะของความเป็นเจ้าของได้ถูกกำหนดขึ้น ทั้งในโลกของมนุษย์และโลกของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ

The Forest Curriculum (Bangkok/Yogyakarta/Manila/Seoul/Berlin/Santa Barbara) is an itinerant and nomadic platform for interdisciplinary research and mutual co-learning, based in Southeast Asia, and operating internationally. Founded and co-directed by curators Abhijan Toto and Pujita Guha, and with Rosalia Namsai Engchuan, it works with artists, collectives, researchers, indigenous organizations and thinkers, musicians, and activists,  to assemble a located critique of the Anthropocene via the naturecultures of Zomia, the forested belt that connects South and Southeast Asia. The Forest Curriculum organizes exhibitions, public programs, performances, video and multimedia projects, as well as an annual intensive in a different location around the region, which gathers practitioners from all over the world to engage in collective research and shared methodologies: The Forest And The School, Bangkok (2019); The Forest Is In The City Is In The Forest I, Manila (2020) and II, Online (2020-2021). The platform collaborates with institutions and organizations internationally, including Savvy Contemporary, Berlin; Ideas City, the New Museum, NTU CCA, Singapore, Nomina Nuda, Los Baños, and GAMeC, Bergamo among others.