ณภัค เสรีรักษ์

อะไรที่เราคิดเมื่อเราคิดเกี่ยวกับการสูญพันธุ์จากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออะไรทำนองนั้น

ผมเพิ่งอายุได้สิบขวบเมื่อบ้านเกิดและที่ที่ผมอาศัยอยู่ในขณะนั้นคือจังหวัดเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือที่เรียกว่า “ซีเกมส์” ครั้งที่ 18 เมื่อปี 2538 การแข่งขันครั้งนั้นนับว่าน่าตื่นตาตื่นใจเพราะเป็นครั้งแรกที่ซีเกมส์จัดขึ้นนอกเมืองหลวงของประเทศเจ้าภาพ สัญลักษณ์นำโชคหรือแมสคอทของซีเกมส์ครั้งนั้นคือ “แมวสวัสดี” ตัวการ์ตูนแมวยืนสองขาถือร่มในท่วงท่าของมนุษย์ ชื่อ “สวัสดี” มาจากคำทักทายในภาษาไทย มันเป็นคำที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นใหม่ร่วมกับคำ “ขอบคุณ” เมื่อช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1930 ส่วนตัวการ์ตูนแมวนั้นมาจากแมววิเชียรมาศ แมวไทยโบราณที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในภาคกลางของประเทศ ขณะที่ร่มมาจากร่มบ่อสร้าง ร่มกระดาษสา หัตถกรรมขึ้นชื่อจากหมู่บ้านบ่อสร้าง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ในแง่หนึ่ง แมวสวัสดีจึงเป็นสัญลักษณ์ที่เกิดมาจากการผสมผสานความไม่เข้ากันโดยอำเภอใจ จากความทรงจำอันรางเลือน ตัวผมในวัยสิบขวบคงจะสงสัยว่าทำไมมันจึงต้องเป็นแมว และเหตุใดมันจึงไม่ได้เป็นช้าง ภายใต้ความคิดที่ว่าช้างน่าจะเป็นสัญลักษณ์ที่ผูกโยงอยู่กับภาพแทนทางวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ หากไม่ใช่ประเทศไทยในภาพรวม ทำไมผมจึงคิดเช่นนั้น? และการคิดแบบนั้นมันสำคัญอย่างไรกันนัก?

แมวสวัสดี สัญลักษณ์นำโชคหรือแมสคอทของซีเกมส์ครั้งที่ 18 ปี 2538

เมื่อเริ่มร่างข้อเขียนนี้ ผมได้กลับไปพบหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งลืมไปแล้ว มันเป็นของขวัญปีใหม่จากลุงซึ่งเป็นพี่ชายคนโตของพ่อและป้าสะใภ้ หนังสือไม่ระบุปีที่ตีพิมพ์ บอกเพียงแต่ว่าเป็นฉบับพิมพ์ครั้งแรก จำนวนพิมพ์ 5,000 เล่ม มีลายมือลุงของผมลงวันที่ไว้ว่า พ.ศ. 2535 น่าจะเป็นวันเดือนปีที่ผมได้รับเป็นของขวัญ มันเป็นหนังสือปกแข็งภาษาไทยที่มีเนื้อหาว่าด้วยสัตว์ป่าในประเทศไทย โดยมุ่งเน้นสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง เขียนโดยนักชีววิทยา สุรินทร์ มัจฉาชีพ ชื่อหนังสือ สัตว์ป่าเมืองไทย ประกอบขึ้นจากคำสองคำ คือ “สัตว์ป่า” และ “เมืองไทย” โดยไม่มีคำเชื่อม ไม่ว่าจะ “ใน” หรือ “ของ” ซึ่งก็อาจใช้ได้ทั้งสองคำ ในนัยนี้ ทั้งคำว่า “ใน” หรือ “ของ” อาจถูกใช้เพื่อระบุตำแหน่งแห่งที่ของการรับรู้ สถานที่ และจุดกำเนิด แม้ว่าโดยปกติแล้วสัตว์หลากหลายชนิดมีการเดินทางข้ามเส้นเขตแดนระหว่างประเทศอยู่เสมอ ถึงกระนั้น ยังพบว่ามีสัตว์บางชนิดที่มีถิ่นที่อยู่และแหล่งหากินเฉพาะที่จำกัดอยู่เพียงอาณาบริเวณทางภูมิศาสตร์เพียงแห่งใดแห่งหนึ่ง ดังเช่น อุรังอุตังตาปานูลี โบโนโบ หรือกบดำโรไรมา ถ้าเช่นนั้นแล้ว มีสัตว์ชนิดใดบ้างไหมที่ปรากฏเฉพาะแต่ในเขตแดนของประเทศไทย คำตอบก็คือทั้งมีและไม่มี เพราะมันเคยมี แต่ก็ไม่มีแล้ว เนื้อสมันตัวสุดท้ายในประเทศไทยตายไปเมื่อปี 2481 และนับว่ามันได้สูญพันธุ์ไปจากโลก ใน “บทนำ” ของหนังสือ สัตว์ป่าเมืองไทย สุรินทร์ มัจฉาชีพ (ม.ป.ป.) กล่าวเตือนว่าหากมนุษย์ยังคงทำลายสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ สำหรับประเทศไทยแล้ว นอกเหนือจากเนื้อสมัน สัตว์ป่าของไทยชนิดอื่นก็อยู่ในอันตรายที่จะสูญพันธุ์ไปด้วยเช่นกัน

หนังสือ สัตว์ป่าเมืองไทย เขียนโดยนักชีววิทยา สุรินทร์ มัจฉาชีพ
เนื้อสมัน จากหนังสือ สัตว์ป่าเมืองไทย

หากจะลองกล่าวในทำนองเดียวกันกับที่นักมานุษยวิทยาอย่าง Hugh Raffles ชวนให้ผู้อ่านจินตนาการถึงแมลงในคำนำหนังสือเรื่อง Insectopedia (2011) ของเขาแล้วนั้น ข้อเขียนนี้ก็อยากจะเชิญชวนให้ผู้อ่านลองจินตนาการถึงสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ที่มีถิ่นอาศัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดูบ้าง ไม่ทราบว่าผู้อ่านจะจินตนาการถึงสัตว์อะไรกันบ้าง? ช้าง? สมเสร็จ? พยูน? หมีหมา? อุรังอุตัง? แรด? เสือ? กระทิง? ตัวนิ่ม? ฉลามวาฬ? ลิง? ชะนี? นกเงือก? นกกระทุง? ไก่ฟ้า? ปลาบึกยักษ์? เต่าทะเล? หรือไม่ได้นึกถึงอะไรที่กล่าวมาเมื่อสักครู่เลย? ถ้าอย่างนั้นนึกถึงอะไร? ยังมีสัตว์อื่นใดอีกที่นึกถึงกัน?

ในทำนองเดียวกันกับที่ Raffles กล่าวเกี่ยวกับพวกแมลง สัตว์ต่าง ๆ ที่เพิ่งกล่าวถึงไปนั้นต่างก็ “แตกต่างไปจากกันและจากเรา” ไม่มากก็น้อย และแน่นอนว่าพวกมันต่างก็ “แสนจะธรรมดาและแสนจะผิดแปลก แสนจะเล็กน้อยและแสนจะใหญ่โต แสนจะเป็นสัตว์สังคมและแสนจะสันโดษ แสนจะแสดงออกโดยเปิดเผยและแสนจะเข้าใจยาก แสนจะสร้างสรรค์และแสนจะทึนทึก แสนจะดึงดูดแต่ก็แสนจะยุ่งเหยิง… เป็นวัตถุแห่งความฝันเฟื่องและฝันร้าย เป็นสิ่งของทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ไม่เพียงแต่มีตัวมีตนดำรงอยู่อย่างลึกซึ้งบนโลก แต่ยังมีส่วนอย่างลึกซึ้งในการสร้างโลกอีกด้วย” (Raffles 2011, 3) และไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ที่แน่ ๆ เราคงสรุปได้ว่าชีวิตของสัตว์เหล่านี้ล้วนเต็มไปด้วยความสลับซับซ้อน แล้วถ้าอย่างนั้น การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมโดยน้ำมือของมนุษย์นั้นทำให้ชีวิตของเราและชีวิตของพวกสัตว์ต่าง ๆ ยิ่งสลับซับซ้อนไปกว่าเดิมอีกหรือไม่? หรือที่จริงแล้วชีวิตของทั้งมนุษย์เราและพวกสัตว์ต่าง ๆ นั้นต่างก็ร้อยรัดพันผูกกันอยู่ตลอดเวลามานานแสนนานแล้ว?

แต่ก่อนที่จะกล่าวถึงพวกสัตว์ต่าง ๆ ต่อไป เราลองมาสนใจภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กันก่อน กล่าวโดยสรุปแล้ว “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เป็นประดิษฐกรรมทางภูมิศาสตร์และการเมืองที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่สองและลงหลักปักฐานเป็นเรื่องเป็นราวอย่างหนักแน่นก็ในช่วงสงครามเย็น กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เกิดขึ้นในช่วงเวลาของกระบวนการรื้อถอนภาวะอาณานิคม ในช่วงเวลาที่อุดมการณ์ชาตินิยมเติบโตและขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคแห่งนี้นั้นก็เป็นที่รู้จักในฐานะที่เป็นหน่วยเดียว ๆ กัน หรือหน่วยย่อย ๆ ที่เป็นหย่อม ๆ เดียว ๆ กันมาก่อนหน้านั้นนานมาแล้ว ไม่ว่าจะในนามของสุวรรณภูมิ แหลมทอง อินเดียไกล อินเดียตะวันออก อินดีสตะวันออก หมู่เกาะมลายู อินโดจีน หนานหยาง ทะเลใต้ ฯลฯ และอย่างที่ทราบกันดี ระหว่างสมัยอาณานิคม ดินแดนต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ได้ถูกแบ่งสันปันส่วนหรือจัดการเชิงพื้นที่อย่างแตกกระจายไปตามแต่อำนาจของผู้ปกครองอาณานิคม กลายไปเป็นพื้นที่ที่รู้จักกันในนามอย่างนิคมช่องแคบแห่งจักรวรรดิบริติชหรือสเตรทส์เซ็ทเทิลเมนท์ส บริติชเบอร์มา อินโดจีนของฝรั่งเศส อินเดียตะวันออกของดัตช์หรือดัตช์อีสต์อินดีส ฯลฯ

พร้อม ๆ ไปกับการเปลี่ยนแปลงความหมายเชิงพื้นที่และดินแดน การลงหลักปักฐานของระบอบการปกครองแบบอาณานิคมยังรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางการเมือง แบบแผน และหน้าที่ในการบริหารรัฐกิจ และที่สำคัญก็คือ การเปลี่ยนแปลงในเรื่องกระบวนการแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากทรัพยากรธรรมชาติผ่านความรู้และเทคโนโลยีภายใต้ระบอบความรู้ของชาวยุโรป (Bryant 1998) ดังที่นักนิเวศวิทยาการเมืองอย่าง Raymond Bryant อภิปรายถึงสถานการณ์หรือภาวะของ “การพึ่งพิงทรัพยากร” (resource dependency) ในภูมิภาคนี้ผ่านการนิยามสถานที่หรือดินแดนแต่ละแห่งตามแต่ทรัพยากรหรือการผลิตสินค้าแบบมวลชน เช่น การนิยามพม่ากับข้าว ไม้สัก และแร่ธาตุต่าง ๆ ชวากับกาแฟและน้ำตาล ฟิลิปปินส์กับน้ำตาล ปอมนิลา และมะพร้าว และมาลายากับดีบุก ปาล์มน้ำมัน และยางพารา เป็นต้น ในแง่นี้ “การแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรจึงจัดวางภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในภาพรวมให้ไปอยู่บนแผนที่โลก (แบบอาณานิคม) และในกระบวนการดังกล่าวนั้นจึงสร้างอัตลักษณ์แห่งชาติและแห่งภูมิภาคที่ซึ่งกำลังถูกรื้อถอนภายใต้ความไม่สม่ำเสมอของการขยายตัวของกระบวนการอุตสาหกรรมในภูมิภาค” (Bryant 1998, 31) สำหรับกรณีประเทศไทยหรือที่แต่เดิมเรียกว่าสยามนั้น แม้ว่าจะไม่ได้ตกเป็นดินแดนอาณานิคมอย่างเป็นทางการ แต่ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าสยามได้รับอิทธิพลหรือผลสะเทือนจากวิธีคิดแบบอาณานิคมอย่างเด่นชัด ชนชั้นนำสยามเปิดตัวเองและรับนำเอาวิธีคิดหรือโลกทัศน์แบบอาณานิคมมาใช้ สยามจึงอยู่ในฐานะทั้งที่เป็นผู้ล่าอาณานิคมและตกอยู่ใต้อาณานิคม ขณะที่ในแง่ของการนิยามดินแดนผ่านการผลิตสินค้า สยามจึงเป็นที่รู้จักในฐานะแหล่งผลิตและส่งออกข้าว ไม้สัก และดีบุก

ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตสินค้ามวลชนระดับโลกอย่างปาล์มน้ำมัน ยางพารา ไม้ซุง เยื่อกระดาษ และสินค้าอีกหลากหลายชนิด จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงต้องเผชิญกับความท้าทายทางสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะปัญหาการทำลายป่า สัตว์ป่าและพืชเฉพาะถิ่นในภูมิภาคจึงเผชิญหน้าโดยตรงกับปัญหาว่าด้วยความเป็นไปได้ของการสูญพันธุ์ ทั้งนี้ ด้วยเหตุที่การพูดถึงการสูญพันธุ์นั้นเป็นเรื่องของความหลากหลายทางชีวภาพ (biological diversity หรือเรียกอย่างย่อว่า biodiversity) เราอาจต้องถามต่อไปว่า แล้วความหลากหลายทางชีวภาพกลายมาเป็นเรื่องสำคัญตั้งแต่เมื่อไร? ด้วยระบบวิธีคิดแบบใด?

คำถามว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพมีฐานคิดวางอยู่บนการศึกษาเชิงธรรมชาติวิทยา (natural history) ในฐานะที่เป็นประวัติศาสตร์ของธรรมชาติที่แตกต่างไปจากประวัติศาสตร์ของวัฒนธรรมหรือประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นความรู้และกระบวนการผลิตความรู้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการอาณานิคมอันเป็นผลมาจากการเผชิญหน้าในบริบทอาณานิคม (colonial encounters) ดังที่นักวิชาการด้านวรรณกรรมศึกษาอย่าง Mary Louise Pratt เสนอให้พิจารณาความรู้ในสาขาวิชา “ธรรมชาติวิทยา” ในฐานะที่กลายเป็นโครงการจำแนกแจกแจงระดับโลก (global classificatory project) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในหนทางซึ่ง “ผลิตภาระหน้าที่ว่าด้วยการระบุตำแหน่งแห่งที่ของชนิดพันธุ์ต่าง ๆ บนดาวเคราะห์ แยกมันออกจากสิ่งแวดล้อมอันเฉพาะเจาะจง… แล้วจึงหยิบนำเอาไปจัดวางลงในตำแหน่งแห่งที่อันเหมาะสมในระบบการจำแนกแจกแจง” ตลอดจนรวมไปถึงการที่ “ขัดขวางรบกวนเครือข่ายความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์และทางวัตถุที่มีอยู่แต่เดิมระหว่างผู้คน พรรณพืช พรรณสัตว์ ในทุกหนทุกแห่งที่มันแพร่ขยายตัวไปถึง” (Pratt [1992] 2008, 26–31) ดังนั้นแล้ว สถานที่ พรรณพืช พรรณสัตว์ ผู้คนต่าง ๆ ตลอดจนวิถีปฏิบัติทางสังคมและวัฒนธรรมของกลุ่มคนต่าง ๆ จึงได้รับการค้นพบและจัดจำแนกแจกแจงอย่างเข้มข้นในบริบทดังกล่าวนี้

ในขณะที่ช้างมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทย ไม่ว่าจะในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงเกียรติภูมิของราชวงศ์หรือชาติ หรือจะฐานะที่เป็นแรงงานในการทำป่าไม้เรื่อยมาจนถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จึงเป็นเรื่องง่ายที่ช้างจะถูกหยิบนำไปมีตำแหน่งแห่งที่สำคัญในแนวเรื่องหรือคำอธิบายว่าด้วยประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทย อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าการผูกโยงช้างเข้ากับภาพแทนทางวัฒนธรรมของสังคมสยามหรือไทยนั้นน่าจะเป็นปรากฏการณ์สมัยใหม่มากกว่า กล่าวคือ เป็นผลผลิตที่เกิดขึ้นโดยสัมพันธ์กับการขยายตัวของความรู้ว่าด้วยสัตววิทยาสมัยใหม่อันเป็นความรู้ที่ทวีความสำคัญขึ้นอย่างมากในบริบทการขยายตัวของวัฒนธรรมการสำรวจและการสะสมแบบอาณานิคมซึ่งราชสำนักสยามพยายามผนวกตัวเองเข้าไป นอกจากการมีช้างเป็นสัญลักษณ์บนธงชาติตามดำริของพระจอมเกล้า (รัชกาลที่ 4) ในปี 2398 ตัวอย่างสำคัญอื่น ๆ ก็คือการที่พระจอมเกล้าส่งช้างสองเชือกไปให้กับจักรพรรดินโปเลียนที่สามในปี 2405 ตลอดจนการที่พระจุลจอมเกล้า (รัชกาลที่ 5) มอบรูปปั้นช้างสำริดเป็นของขวัญให้กับรัฐบาลสิงคโปร์และปัตตาเวีย (ปัจจุบันคือจาการ์ตา) หลังการเดินทางเจริญสัมพันธไมตรีในปี 2414 จนถึงปัจจุบันภาพและภาพลักษณ์ของช้างยังผูกโยงอยู่กับประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะที่เป็นจุดหมายปลายทางของการเดินทางท่องเที่ยวระดับโลก ลองคิดถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวขี่หลังช้างในอดีตเรื่อยมาจนถึงการท่องเที่ยวเชิงอาสาสมัคร (volunteer tourism)1 โดยเฉพาะอาสาสมัครเพื่อสวัสดิภาพสัตว์ในปัจจุบัน หรือลองคิดถึงช้างไม้แกะสลักจนมาถึงเสื้อยืดและกางเกงผ้าพิมพ์ลายช้างที่แพร่หลายตามร้านขายของที่ระลึกตามสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ

รูปปั้นช้างสำริดที่พระจุลจอมเกล้า (รัชกาลที่ 5) มอบเป็นของขวัญให้กับ รัฐบาลสิงคโปร์และปัตตาเวีย (ปัจจุบันคือจาการ์ตา) หลังการเดินทางเจริญ สัมพันธไมตรีในปี 2414

ในอีกกรณีหนึ่ง สำหรับการส่งคืนอุรังอุตังที่ถูกลักลอบนำเข้ามาในประเทศไทยกลับไปยังอินโดนีเซียนั้น พบได้ว่าเหตุผลไม่ได้เป็นแต่การอธิบายผ่านกรอบคิดว่าด้วยสวัสดิภาพสัตว์แต่เพียงเท่านั้น หากยังรวมไปถึงการมีน้ำเสียงที่เน้นย้ำความสัมพันธ์ทางการทูต โดยเฉพาะเมื่ออุรังอุตังกลายมาเป็นสัตว์สัญลักษณ์แห่งชาติของอินโดนีเซีย อันที่จริง อุรังอุตังยังถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ทางสังคมวัฒนธรรมของมาเลเซียตะวันออกหรือดินแดนของมาเลเซียบนเกาะบอร์เนียวอย่างรัฐซาบาห์และซาราวักด้วย สำหรับสัตว์ที่ใช้ชีวิตอยู่บนยอดเรือนไม้ของป่าฝนเขตร้อนบนเกาะบอร์เนียวและสุมาตรา จำนวนประชากรอุรังอุตังเผชิญกับการลดจำนวนลงอย่างมีนัยสำคัญ การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศจากการกระทำของมนุษย์ โดยเฉพาะจากนิคมเกษตรกรรม การทำเหมือง โครงการพัฒนาต่าง ๆ ไปจนถึงการรุกล้ำที่อยู่อาศัยและการล่าต่างก็เป็นเหตุผลสำคัญที่มีส่วนต่อการเข้าใกล้การสูญพันธุ์ตามธรรมชาติของอุรังอุตัง วิธีคิดว่าด้วยการฟื้นฟูอุรังอุตังเพื่อกลับคืนสู่ป่าริเริ่มขึ้นในซาราวักระหว่างคริสต์ทศวรรษที่ 50 กระทั่งต่อมาโครงการอนุรักษ์ต่าง ๆ ทั้งในรูปแบบอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และศูนย์ฟื้นฟู ต่างก็ได้รับการตั้งขึ้นในพื้นที่ใกล้เคียงกับถิ่นอาศัยของอุรังอุตังทั้งในอินโดนีเซียและมาเลเซีย โดยมากโครงการเหล่านี้ริเริ่มและผลักดันโดยองค์กรด้านการอนุรักษ์ข้ามชาติ อาศัยความร่วมมือจากรัฐบาลและหน่วยงานระดับชาติ หากยังพึ่งพิงชุมชนและผู้คนในท้องถิ่น ทั้งนี้ ในการจะปกป้องคุ้มครองชนิดพันธุ์ที่โดดเด่น (charismatic species)2 อย่างอุรังอุตังจากการสูญพันธุ์นั้น สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือผู้คนที่เกี่ยวข้องมักจะได้รับผลกระทบที่ไม่เท่ากัน ตามแต่ความแตกต่างทางชนชั้นหรือช่วงชั้นทางสังคมที่มีที่มาจากชนชั้นทางเศรษฐกิจ เพศภาวะ และความเป็นชาติหรือชาติพันธุ์ ในความเป็นจริงแล้วผู้คนพื้นถิ่น (indigenous people) มักจะมีโอกาสเผชิญกับความเสี่ยงและความเปราะบางมากกว่าคนกลุ่มอื่น ๆ (see, e.g., Parreñas 2012; Rubis and Theriault 2019)

การส่งคืนอุรังอุตังที่ถูกลักลอบนำเข้ามาในประเทศไทยกลับไปยังอินโดนีเซีย

เห็นได้ชัดว่าพลังทางเศรษฐกิจการเมืองที่เป็นเหตุผลเบื้องหลังของความท้าทายทางสิ่งแวดล้อมไม่เพียงแต่กระทบถึงมนุษย์ แต่ยังหมายความรวมไปถึงสัตว์ชนิดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่มนุษย์ พรรณพืช และสภาพแวดล้อม ถ้าอย่างนั้นแล้วเศรษฐกิจการเมืองของการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมสามารถบอกอะไรได้บ้างเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์อันหลากหลายของอาณานิคมและทุนนิยมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจากมุมมองของภูมิภาคนี้? และมากไปกว่านั้น เราจะคิดไปไกลกว่าความสนใจของภูมิภาคหรือความสนใจระดับภูมิภาคได้อย่างไร? ในเบื้องต้น คำถามนี้ชวนให้คิดไปถึงคำถามของนักประวัติศาสตร์อย่าง Willem van Schendel (2002) ว่าด้วยความเป็นการเมืองของความเป็นวิชาการในการคิดเกี่ยวกับ “ขนาด” (scale) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระบวนการแบ่งภูมิภาคของโลกในทางวิชาการ ซึ่งสร้างและสนับสนุนการเกิดขึ้นและการมีอยู่ของ “อาณาบริเวณ” และ “อาณาบริเวณศึกษา” หนึ่ง ๆ ใด ๆ ก็ตาม ดังนั้นแล้ว คงจะระบุได้ว่าปัญหาของการคิดเรื่องนี้ก็คงจะอยู่ที่คำถามว่าด้วยวิธีคิดเกี่ยวกับ “ขนาด” ทั้งในเชิงพื้นที่และเวลา ตลอดรวมไปจนถึงร่องรอยของการไหลเวียน การเชื่อมต่อ และการร้อยรัดพันผูก ข้ามพื้นที่และเวลา

กล่าวในเชิงพื้นที่ ผมเสนอว่าเราจะต้องไม่คิดถึงการสูญพันธุ์แต่เพียงจากจุดยืนของชาติหรือภูมิภาค ทว่าเราจะต้องคิดถึงมันในระดับโลกในฐานะที่เป็นดาวเคราะห์ ดังนั้นมันจึงไม่มีการคิดเกี่ยวกับการสูญพันธุ์จาก “ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” หรือ “ที่ใดที่หนึ่งราวกับว่าอยู่ในที่แห่งหนึ่งแห่งใดนั้น” แต่จะต้องคิดอยู่บนสถานที่หรือท้องถิ่นเฉพาะบนโลกที่ซึ่งทุกหนทุกแห่งล้วนแต่มีความหมาย เพราะฉะนั้น การคิดเกี่ยวกับการสูญพันธุ์จากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงเป็นการคิดถึงการสูญพันธุ์บนดาวเคราะห์ แม้กระนั้นก็ตาม แน่นอนว่าการกล่าวดังนี้จึงไม่ใช่การกล่าวในนัยที่ว่าควรจะแบ่งสรรความรับผิดชอบอย่างเท่า ๆ กัน ในทางตรงกันข้าม เมื่อกล่าวถึงสาเหตุและผลกระทบอันไม่เท่าเทียมกันนั้น เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าผลสืบเนื่องของการพัฒนาอันไม่สม่ำเสมอและไม่เท่าเทียมกัน (หรือที่อาจเรียกได้ว่าผลกระทบของ “กระบวนการทันสมัย” และ “กระบวนการอาณานิคม”) ล้วนแล้วแต่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในสถานการณ์เหล่านี้ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อใดที่กล่าวถึงประเด็นว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยาอันเป็นผลจากการกระทำของมนุษย์นั้น (anthropogenic) เราจึงต้องกลับมาทบทวนความหมายของคำว่า “มนุษย์” หรือ “anthropos” เนื่องจากเป็นคำที่ปิดบังหรืออำพรางความไม่สม่ำเสมอและความไม่เท่าเทียมกันของความเปราะบางและความรับผิดชอบ

นั่นจึงนำมาสู่ประเด็นสุดท้ายแต่ก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน กล่าวคือ คำถามว่าด้วย “ขนาด” ในเชิงระยะเวลา (time-scale) ผมเริ่มต้นข้อเขียนนี้ด้วยความทรงจำจากปี 2538 และเมื่อเวลา 25 ปีผ่านไป ในขณะที่ผมเขียนย่อหน้านี้ในช่วงปลายปี 2563 ถึงแม้ว่า “ยี่สิบห้าปีจะเป็นช่วงเวลาอันยาวนาน” แต่ “นั่นก็เป็นเวลา 25 ปี ในเวลาของมนุษย์ สำหรับเวลาเชิงธรณีกาล (geologic time) มันก็เป็นเพียงแค่ชั่วลมหายใจสั้น ๆ เท่านั้น ความกว้างใหญ่ไพศาลของเวลาในเชิงธรณีกาลนั้นเป็นทั้งสิ่งที่ดูราวกับว่าจะเข้าใจไม่ได้เพราะอยู่นอกเหนือขอบเขตของการทำความเข้าใจแต่พร้อมกันนั้นก็เป็นเรื่องดาษดื่นสามัญ” (Raffles 2012) เป็นที่น่าสังเกตว่า เราสามารถจะคิดเกี่ยวกับการสูญพันธุ์ได้ก็ต่อเมื่อเราสามารถทำความเข้าใจขนาดของเวลาในเชิงธรณีกาลเท่านั้น สำหรับประวัติศาสตร์วิวัฒนาการเฉพาะของแต่ละสปีชีส์ของมนุษย์และอุรังอุตังนั้น ในฐานะที่จัดว่าเป็นโฮมินิดด้วยกัน มนุษย์และอุรังอุตังจึงถูกจินตนาการในฐานะที่เป็นเครือญาติทางวิวัฒนาการ “บนฐานคิดที่วางอยู่บนผังครอบครัวที่นับสืบย้อนกลับไปได้ตั้งแต่ 14 ล้านปีก่อน เมื่อบรรพบุรุษร่วมของเหล่าโฮมินิดทั้งหลายยังมีชีวิตอยู่” (Parreñas 2016, 114) ในท้ายที่สุด หากกล่าวในฐานะ “อุรังอุตัง 97 เปอร์เซ็นต์” ตอนนี้คงเป็นเวลาที่จะทบทวนถึงความแตกต่างและเส้นแบ่งระหว่าง “มนุษย์” และ “สิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์” ตลอดจนการก้าวข้ามเส้นแบ่ง (transgressions) และการร้อยรัดพันผูก (entanglements) ระหว่าง “ท้องถิ่น” “ภูมิภาค” “โลก” และ “โลกในฐานะดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง” ที่เกิดขึ้นตลอดช่วงเวลาในเชิงธรณีกาล และนี่ยังเป็นเวลาสำคัญในอันที่จะคิดเกี่ยวกับความไม่สม่ำเสมอและความไม่เท่าเทียมกันในการแบ่งสรรปันส่วนของสาเหตุ ผลกระทบ และความรับผิดชอบ ระหว่างกลุ่มคนต่าง ๆ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือความแตกต่างภายในสปีชีส์ของมนุษย์เองด้วยเช่นกัน

References
Bryant, Raymond L. 1998. “Resource Politics in Colonial South-East Asia: A Conceptual Analysis.” In Environmental Challenges in South-East Asia, edited by Victor T. King, 29–51. Richmond: Curzon Press.
Parreñas, Juno Salazar. 2016. “The Materiality of Intimacy in Wildlife Rehabilitation: Rethinking Ethical Capitalism through Embodied Encounters with Animals in Southeast Asia.” Positions: Asia Critique 24 (1): 97–127. https://doi.org/10.1215/10679847-3320065.
Parreñas, Rheana “Juno” Salazar. 2012. “Producing Affect: Transnational Volunteerism in a Malaysian Orangutan Rehabilitation Center.” American Ethnologist 39 (4): 673–87. https://doi.org/10.1111/j.1548-1425.2012.01387.x.
Pratt, Mary Louise. (1992) 2008. Imperial Eyes: Travel Writing and Transculturation. 2nd ed. New York: Routledge.
Raffles, Hugh. 2011. Insectopedia. New York: Vintage Books.
———. 2012. “Twenty-Five Years Is a Long Time.” Cultural Anthropology 27 (3): 526–34. https://doi.org/10.1111/j.1548-1360.2012.01158.x.
Rubis, June Mary, and Noah Theriault. 2019. “Concealing Protocols: Conservation, Indigenous Survivance, and the Dilemmas of Visibility.” Social & Cultural Geography, February, 1–23. https://doi.org/10.1080/14649365.2019.1574882.
Schendel, Willem van. 2002. “Geographies of Knowing, Geographies of Ignorance: Jumping Scale in Southeast Asia.” Environment and Planning D: Society and Space 20 (6): 647–68. https://doi.org/10.1068/d16s.
สุรินทร์ มัจฉาชีพ. ม.ป.ป. สัตว์ป่าเมืองไทย. กรุงเทพฯ: แพร่พิทยา.

 

ณภัค เสรีรักษ์ เป็นนักมานุษยวิทยาและนักวิจัยอิสระ เขาจบปริญญาตรีสาขาเศรษฐศาสตร์ และปริญญาโทสาขามานุษยวิทยา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเคยเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ระหว่างปี 2556 - 2560 งานเขียนจำนวนหนึ่งของเขามุ่งทำความเข้าใจประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของความรู้ทางการแพทย์ว่าด้วยเพศในสังคมไทย โดยอาศัยแนวการศึกษาเชิงประวัติศาสตร์วิถีทางเพศ มานุษยวิทยาการแพทย์ และมานุษยวิทยาภาษา นอกจากนั้นแล้ว ณภัคยังสนใจงานเขียนว่าด้วยการเดินทางสำรวจในสมัยอาณานิคม ตลอดจนประวัติศาสตร์สิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยาการเมืองของการอนุรักษ์ธรรมชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ข้อเขียนชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของประเด็นที่เขากำลังศึกษาอยู่